วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560


การวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research)


ความหมายการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

ยาใจ พงษ์บริบูรณ์ (2537 อ้างใน สมนึก ปฏิปทานนท์, 2550) กล่าวว่าการวิจัยเชิงปฏิบัติการ คือการวิจัยที่ใช้กระบวนการปฏิบัติอย่างมีระบบ โดยผู้วิจัยและผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการและวิเคราะห์วิจารณ์ผลการปฏิบัติ จากการใช้วงจร4 ขั้นตอนคือ การวางแผน การลงมือกระทำ การสังเกตและการสะท้อนการปฏิบัติ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องกันไป ผลที่ได้นำไปปรับแผนเข้าสู่วงจรใหม่จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่แก้ไขปัญหาได้จริง หรือพัฒนาสภาพการณ์ของสิ่งที่ศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สมนึก ปฏิปทานนท์ (2550) กล่าวว่าการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เป็นการวิจัยที่มุ่งจะนำหลักการของวิธีการทางวิทยาสาสตร์มาใช้เพื่อแก้ปัญหาในสภาพการณ์เฉพาะ เน้นการวิจัยที่ง่ายไม่สลับซับซ้อน และนำไปใช้ในการแก้ปัญหาในการทำงานจริงๆ

กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล (2549) กล่าวว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการ หมายถึงการศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบถึงการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานเอง เพื่อเข้าใจดีขึ้น หรือแก้ปัญหาเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ซึ่งได้จากการรวบรวมการร่วมมือ การสะท้อนตนเองและการใช้วิจารณญาณภายใต้กรอบจรรยาบรรณที่ยอมรับกัน

กรมส่งเสริมการเกษตร (2551) การวิจัยปฏิบัติการ คือ การวิจัยประยุกต์แบบหนึ่ง เป็นการวิจัยที่สะท้อนผลการปฏิบัติงานของตนเองเป็นวงจรแบบต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด โดยเริ่มต้นที่ขั้นตอนการวางแผน การปฏิบัติการสังเกต และการสะท้อนกลับเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น

Lewin (1946 อ้างใน ยาใจ พงษ์บริบูรณ์, 2552) กล่าวว่าการวิจัยเชิงปฏิบัติการ คือการวิจัยที่ใช้กระบวนการศึกษาในลักษณะกลุ่มรวมกันทำงานและตัดสินใจ อย่างมีพันธะต่อกันเพื่อมุ่งมั่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และใช้การปฏิบัติการ 3 ขั้นตอน คือการวางแผน การปฏิบัติการ และการสะท้อนผลการปฏิบัติ

Johnson, C.S. และ Kromann-Kelly (1995 อ้างในสุวิมล ว่องวาณิช, 2551 ) กล่าวว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการ หมายถึงการรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์และตีความหมายโดยมีแผนงานกำหนดและแลกเปลี่ยนผลกับเพื่อนร่วมวิชาชีพ กระบวนการวิจัยปฏิบัติการต้องตอบคำถาม5 ข้อ ดังต่อไปนี้ (1) คำถามที่ต้องการศึกษาคืออะไร (2) ข้อมูลที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง (3) ข้อมูลที่ต้องจัดเก็บคืออะไร (4)จะวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร และ (5) จะแปลความหมายนั้นว่าอย่างไร การตอบคำถามเหล่านี้ต้องใช้เวลาวางแผน และในทุกขั้นตอนต้องอภิปรายกับเพื่อนร่วมงาน

Zuber-Skerritt, O. (1996 อ้างในสุวิมล ว่องวาณิช, 2551) กล่าวว่า การวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนการทำงานเป็นวงจรต่อเนื่อง 4 ขั้นตอน ได้แก่ (1) การวางแผนกลยุทธ์ (2) การปฏิบัติ (นำแผนไปปฏิบัติ) (3) การสังเกต (โดยมีการประเมินตนเอง) และ (4)การสะท้อนผลเชิงวิพากษ์จากตนเองและเพื่อนร่วมงานในผลที่ได้จากขั้นตอนที่ 1-3 จากนั้นมีการทำงานในวงจรรอบที่ 2 โดยมีการปรับแผนการทำงาน แล้วนำไปปฏิบัติ ทำการสังเกตผลที่เกิดขึ้นและสะท้อนผลเพื่อปรับปรุงต่อไป

Dick, B. (2000 อ้างใน สุวิมล ว่องวาณิช, 2551) กล่าวว่าการวิจัยปฏิบัติการ ประกอบด้วยวิธีวิทยาการการวิจัยที่ทำให้เกิดผลของการปฏิบัติ และผลของการวิจัย ในเวลาเดียวกัน โดยมีขั้นตอนการวิจัยที่เป็นวงจรต่อเนื่อง ประกอบด้วยผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการ ใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นข้อความที่เป็นภาษามากกว่าตัวเลข นอกจากนี้ยังมีการสะท้อนผลซึ่งครอบคลุมทั้งส่วนที่เป็นกระบวนการและผลลัพธ์ การวิจัยปฏิบัติการจึงเป็นกระบวนการที่มีความยืดหยุ่น ตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งนี้ Dick มีความเห็นว่าการวิจัยปฏิบัติการเป็นการวิจัยที่มีการสร้างสมมติฐานการวิจัยจากข้อมูลที่รวบรวมได้ระหว่างการทำวิจัย และสามารถใช้กระบวนการดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำหรับการวิจัยนำร่อง การนำไปใช้เป็นเครื่องมือวินิจฉัยจุดบกพร่องต่างๆ หรือใช้เพื่อการประเมินผล อย่างไรก็ตาม Dick เห็นว่าการมีส่วนร่วมไม่จำเป็นต้องมีตลอดการวิจัย อาจให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมเพียงแค่ผู้ให้ข้อมูล ลักษณะสำคัญ

จากการศึกษาแนวคิดของนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีต่อความหมายของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ สามารถสรุปได้ว่า การวิจัยเชิงปฎิบัติการ คือ การศึกษาค้นคว้า รวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และตีความหมายอย่างมีระบบ และยืดหยุ่น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เฉพาะ ถึงการปฏิบัติงานเพื่อเข้าใจดีขึ้น หรือแก้ปัญหาเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ ของผู้วิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีขั้นตอนการทำงานเป็นวงจรต่อเนื่อง 4 ขั้นตอน ได้แก่ (1) การวางแผนกลยุทธ์ (2) การปฏิบัติ (นำแผนไปปฏิบัติ) (3) การสังเกต (โดยมีการประเมินตนเอง) และ (4)การสะท้อนผลเชิงวิพากษ์จากตนเองและเพื่อนร่วมงาน ผลที่ได้นำไปปรับแผนเข้าสู่วงจรใหม่จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่แก้ไขปัญหาได้จริง หรือพัฒนาสภาพการณ์ของสิ่งที่ศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กรอบจรรยาบรรณที่ยอมรับกัน



ต้นกำเนิดของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

            Kurt Lewin ได้รับเกียรติเป็นผู้ใช้คำว่า  “action research” เป็นครั้งแรก ในประมาณปี 1934 และในต้นปี 1940 หลังจากที่ Lewin ได้ประสบการณ์จากการลงมือทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแล้ว  เขาให้ข้อคิดว่าวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นกระบวนการที่มีความน่าเชื่อถือได้ในการพัฒนาความสามารถของการสะท้อนคิด การอภิปรายการตัดสินใจ และการลงมือทำเพื่อให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น (Adelman, 1993 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549)

            จากการศึกษาพบว่าในยุคต้น ๆ ของการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ  จำแนกตามกลุ่มภูมิศาสตร์ คือ กลุ่มจากอเมริกา  วิจัยเชิงปฏิบัติการเจริญรอยตามความเคลื่อนไหวของต้นแหล่งกลุ่มหัวหน้าทางการศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของ John Dewey ซึ่งจัดว่าเป็นยุคของ modern era  และ Elkind (1997อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) ได้กล่าวทำนองเดียวกันและเสริมว่า ข้อเสนอแนะของ Dewey ที่กล่าวว่านักเรียนไม่จำกัดว่าอายุใดสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการลงมือทำ (หรือ learning by doing) มีผลอย่างมากมายต่อการปรับเปลี่ยนกิจกรรมของโรงเรียนและหลักสูตรในปลาย ๆ ศตวรรษที่ 19 และต้น ๆ ศตวรรษที่ 20 ตามแนวคิดของ Dewey ซึ่งยังมีส่วนส่งผลถึงยุคปัจจุบัน (รับทอดต่อจากยุค modern era มาถึงยุค post modern era) แต่มีความซับซ้อนมากกว่ายุคก่อน ๆ กล่าวคือ  โรงเรียนให้ความใส่ใจกับความแตกต่างระหว่างบุคคลทุกอย่างมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น คำนึงถึงพหุเชาวน์ปัญญา  ขยายการแสวงหาความรู้ได้หลายๆ  ทาง รวมถึงการสร้างความรู้ได้เอง สิทธิที่เด็กพึงได้รับ การเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นต้น กลุ่มจากอังกฤษมุ่งใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการในการปฏิรูปหลักสูตร และพัฒนาด้านวิชาชีพทางการสอนมากยิ่งขึ้น และกลุ่มจากออสเตรเลียเน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบร่วมมือกันในการางแผนหลักสูตร ซึ่งมีความเคลื่อนไหวใสขอบเขตค่อนข้างกว้าง



ทฤษฎีพื้นฐานของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

Mills (2003 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) กล่าวถึงทฤษฎีและปรัชญาที่เป็นฐานสำคัญของการปฏิบัติของนักวิจัย มีความแตกต่างหลากหลายขึ้นกับรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ของนักวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งจัดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่ใช้ทฤษฎีเป็นฐาน (critical or theory-based) และประเภทที่ใช้การปฏิบัติการเป็นฐาน (practical based) นั่นคือ Mills จัดว่าวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ใช้การวิพากษ์เป็นฐาน (critical action research) และวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ปลดปล่อยอิสระจากการครอบงำของกรอบ (emancipatory action research) โดยรวมประเภทที่ 1 และประเภทที่ 3 ดังที่กล่าวข้างต้นเป็นกลุ่มประเภทเดียวกัน เพราะเป้าหมายหลักเหมือนกัน คือ มีการรวบรวมความรู้ที่ไม่ติดยึดกับกฎเกณฑ์หรือกรอบแบบเดิม ๆ หลักการเหตุผลสำหรับ critical action research ใช้ทฤษฎีเป็นฐานสำคัญในทางสังคมศาสตร์และทางมนุษยศาสตร์ รวมถึงทฤษฎีของยุคหลังสมัยใหม่ (theories of postmodernism) หรือ technical action  research

            ทฤษฎีเชิงวิพากษ์ (critical theory) ในงานวิจัยเชิงปฏิบัติการหรือ technical action research ทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ต่างก็มีวัตถุประสงค์ที่เป็นพื้นฐานร่วมคล้าย ๆ กัน (Kemmis, 1990 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) ดังนี้

            1. ความสนใจร่วมกันในกระบวนการของการนำไปสู่การรู้แจ้ง (enlightenment)

            2. ความสนใจร่วมกันในการทำให้แต่ละคนอิสระเสรีจากสั่งการหรือบงการตามแบบเดิม ๆ (สืบทอดตามวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ)

            3. การเต็มใจผูกมัดตัวเองเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางประชาธิปไตย เพื่อการปฏิรูปและนอกจากนี้รากเหง้าในทฤษฎีเชิงวิพากษ์ของทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เป็นที่มาของวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ใช้การวิพากษ์เป็นฐาน ซึ่งมาจากทฤษฎียุคหลังสมัยใหม่ (postmodernism) ที่เรียกร้องความเป็นจริง (truth) และความเป็นปรนัย (objectivity) ตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์แบบเดิม แทนที่จะเรียกร้องข้อเท็จจริง (fact) กลุ่มยุคหลังสมัยใหม่ให้ข้อโต้แย้งว่าความเป็นจริง (truth) มักเกี่ยวข้องเสมอกับสิ่งอื่น ๆ เช่น เงื่อนไข สถานการณ์ และความรู้ที่ได้มักเกิดจากความเจริญงอกงามที่เป็นผลพอกพูนขึ้นจากประสบการณ์เดิม

            ดังนั้น ทัศนะของยุคหลังสมัยใหม่ได้คำนึงถึงความห่วงใยดังกล่าวเหล่านี้ โดยสนับสนุนให้การวิจัยตั้งอยู่บนข้อตกลงเบื้องต้นเกี่ยวกับการมีอยู่ของความเป็นจริง (truth) เป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่น ๆ ไม่ว่าเงื่อนไขหรือสถานการณ์ และยังขึ้นกับประสบการณ์เดิมด้วย ดังนั้นเพียงจัดทำให้วิจัยเชิงปฏิบัติการดำเนินการในสถานที่นั้นๆเอง จึงจะน่าจูงใจและตรงมากกว่าและที่สำคัญคือผลข้อค้นพบที่ได้มานั้นมีความหมายสำหรับผู้มีส่วนร่วมเอง

            ทฤษฎียุคหลังสมัยใหม่ได้ผลักดันให้ศึกษาและตรวจสอบถึงกลไกของการผลิตความรู้ และตั้งคำถามถึงข้อตกลงเบื้องต้นที่เป็นฐานสำคัญของชีวิตสมัยใหม่ นั่นคือ มีการผลักดันให้ ตรวจสอบสิ่งที่มีอยู่ตามปกติประจำวันในกิจกรรมส่วนบุคคล กิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมทางวิชาชีพ” (Stringer, 1996 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) วิจัยเชิงปฏิบัติการให้วิธีการที่ทำให้เราสามารถนำไปใช้เพื่อการตรวจสอบและได้ตัวแทนประสบการณ์ของผู้วิจัย ซึ่งสร้างตามบริบทและการเมือง

            คุณค่าของวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ใช้การวิพากษ์เป็นฐานคือ การทำให้วิจัยทางการศึกษาตอบสนองต่อสังคม รวมถึงลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

            1. ความเป็นประชาธิปไตย ช่วยการมีส่วนร่วมของกลุ่มคน

            2. ความเสมอภาค รับทราบถึงคุณค่าของความเท่าเทียม

            3. ความมีอิสรภาพหรือเสรีภาพหรือความเสมอภาพ ให้มีอิสรภาพจากการถูกกดขี่พ้นจากสภาพความหดหู่ หมดกำลังใจ

            4. การส่งเสริมสนับสนุน ช่วยส่งเสริมให้คนแสดงออกอย่างเต็มศักยภาพในขณะเดียวกัน วิธีการของการใช้ทฤษฎีวิพากษ์เป็นฐานนั้นถูกวิจารณ์ว่าขาดความเป็นไปได้ด้านการปฏิบัติ (Hammersley, 1993 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) ซึ่งถือว่าไม่สำคัญนักเพราะวิจัยเชิงวิพากษ์ช่วยค้นหาหรือช่วยแก้ปัญหาซึ่งใช้เป็นวิธีการสำหรับครูได้ผูกมัดตนเอง โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการค้นหาความสัมพันธ์ และ   พร้อม ๆ กับปฏิบัติงานในวิชาชีพของครูเองด้วย

            ส่วนวิจัยอีกประเภทหนึ่ง คือ วิจัยเชิงปฏิบัติการที่เน้นการปฏิบัติเป็นฐาน (practical action research) โดยวิจัยเชิงนี้เน้นหนักไปที่วิธีการดำเนินการกับกระบวนการของวิจัยเชิงปฏิบัติการ และให้น้ำหนักน้อยกับ ปรัชญาโดยตั้งสมมติฐานว่าครูแต่ละคนหรือแต่ละทีมมีอิสระในตัวเองในการกำหนดเรื่องที่ต้องการศึกษา นักวิจัยผูกมัดกับการพัฒนาทางวิชาชีพครูปรับปรุงการเรียนการสอน ปรับปรุงโรงเรียน และนักวิจัยต้องสะท้อนงานที่ปฏิบัติอย่างมีระบบท้ายที่สุดเชิงปฏิบัติการประเภทนี้มีทัศนะว่า นักวิจัยเป็นผู้ตัดสินใจเลือกกำหนดประเด็นที่ต้องการวิจัย ตัดสินใจเองว่าจะใช้เทคนิคอะไรในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูล และพัฒนาแผนการปฏิบัติที่ขึ้นกับผลข้อค้นพบ สำหรับความคิดรวบยอดหลักของวิจัยเชิงปฏิบัติการทั้ง 2 ประเภท สรุปเสนอในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 สรุปความคิดรวบยอดหลักของวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เน้นการวิพากษ์และการปฏิบัติเป็นฐาน

วิจัยเชิงปฏิบัติการที่เน้นการวิพากษ์
(Critical Action Research)
วิจัยเชิงปฏิบัติการที่เน้นการปฏิบัติ
(Practical Action Research)
1. ลักษณะของการมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตย
2. มีการตอบสนองทางสังคมและดำเนินการในบริบทเฉพาะนั้น ๆ
3. กระบวนการช่วยให้นักวิจัยต้องตรวจสอบทุกวัน ดำเนินการตามที่ได้รับอนุมัติให้ปฏิบัติทางวิชาชีพ
4. ความรู้ที่ได้รับเมื่อผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ผู้ให้ข้อมูลคือนักเรียน ครูและผู้บริหารมีอิสระเสรีภาพจากสาระความรู้ที่ได้รับพร้อมกับได้เพิ่มพูนการเรียนรู้ การสอนและการจัดทำนโยบาย
1. นักวิจัยมีอำนาจในการตัดสินใจ เป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระ
2. นักวิจัยมีข้อผูกมัดกับการพัฒนาทางวิชาชีพและการปรับปรุงโรงเรียน
3. นักวิจัยต้องสะท้อนสิ่งที่ตนปฏิบัติ
4. นักวิจัยจะใช้วิธีการที่เป็นระบบในการสะท้อนงานที่ปฏิบัติของครูเอง
5. นักวิจัยเป็นผู้เลือกประเด็นปัญหาที่ต้องการทำวิจัยเอง พิจารณาเทคนิคการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และแปลความหมายข้อมูล และรวมถึงพัฒนาแผนการปฏิบัติเองด้วย





ความเชื่อพื้นฐานของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการมีความเชื่อพื้นฐาน (Basic Assumptions) (ทวีป ศิริรัศมี,2537 อ้างใน สมนึก ปฏิปทานนท์, 255) อยู่ 4 ประการ ดังนี้

1. วิธีการแก้ปัญหาที่ได้มาจากการค้นคว้าจะมีประสิทธิภาพ และเชื่อถือได้มากกว่าวิธีการแก้ปัญหาที่ได้จากการสั่งการของผู้มีอำนาจหรือผู้บริหารโดยการสั่งการนั้น มักเกิดจากการสะสมประสบการณ์และใช้สามัญสำนึกเป็นหลัก ซึ่งมักจะขาดหลักฐานข้อมูลที่จะใช้ประกอบในการตัดสินใจ

2. การวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาของผู้ปฏิบัติงานที่ดำเนินการเอง โดยผู้ปฏิบัติงานจะได้มีโอกาสแก้ปัญหาของเขาได้สำเร็จมากกว่าการวิจัย เพื่อการแก้ปัญหาที่ทำโดยบุคคลอื่น

3. การวิจัยเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ปัญหา การค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา การทดสอบและการประเมินผลวิธีแก้ปัญหา การวิจัยเป็นทักษะที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ โดยผู้ปฏิบัติงานทุกคน การวิจัยไม่ได้เป็นสิทธิพิเศษของผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

4. การพัฒนาความสามารถของบุคคลโดยการฝึกหัด ถือว่าเป็นรากฐานของการพัฒนาการปฏิบัติ

ความเชื่อพื้นฐาน เป็นข้อคิดในการปฏิบัติงาน สำหรับครูผู้สอนที่จะทำการวิจัยเชิงปฏิบัติการให้ตระหนักว่าปัญหาจากการเรียนการสอน ครูผู้สอนเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงย่อมทราบรายละเอียดความลึกซึ้งของปัญหาได้ดีกว่าผู้อื่น ดังนั้น การพัฒนางานในจุดนี้อย่างมีระบบจะสามารถพัฒนาความสามารถของครูผู้สอนได้เป็นอย่างดี



ประเภทของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

            นักวิชาการหลายท่านได้อภิปรายถึงประเภทของวิจัยเชิงปฏิบัติการ อาทิ Crundy , Holter และ Schwartz Barcott , McKerman และ McCutcheon และ Jurg  ต่างก็ให้แนวคิดเกี่ยวกับวิจัยเชิงปฏิบัติการว่าแบ่งเป็น 3 ประเภท (กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) คือ

            ประเภทที่ 1 การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ยึดเทคนิค หรือทฤษฎี หรือเชิงวิพากษ์ (technical action research)

            ประเภทที่ 2 การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติ (practical action research)

            ประเภทที่ 3 การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่อิสระปลดปล่อยจากพันธการทั้งปวง (emancipatory action research) หรือการวิจัยการแบบมีส่วนร่วม (participatory action research)



            ประเภทที่ 1 การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ยึดเทคนิค (Technical Action Research)

            โครงการที่ใช้วิธีของวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ยึดเทคนิคนั้น ดำเนินการโดยบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีประสบการณ์สูงหรือมีคุณสมบัติที่จัดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัยเชิงปฏิบัติการทำให้งานที่ปฏิบัติมีทั้งประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น การปฏิบัติมุ่งโดยตรงไปที่ผลการวิจัย แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ปฏิบัติการวิจัยเองเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมแบบเป็นกันเองในกระบวนการของการปรับปรุง การวิจัยแบบนี้มีผลทำให้เกิดการสะสมของการทำนายความรู้ ความสำคัญอยู่ที่การตรวจสอบความตรงและการทำให้ทฤษฎีที่มีอยู่ละเอียดมากขึ้น และให้ความสำคัญของการพิจารณาจากทฤษฎีนำไปสู่เรื่องเฉพาะของการปฏิบัติงาน พูดง่าย ๆ คือ นำทฤษฎีสู่การปฏิบัติ



            ประเภทที่ 2 การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติ (Practical Action Research)

            โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการประเภทนี้ ผู้วิจัยในฐานะผู้ปฏิบัติงานกับผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้วิจัยกับผู้ปฏิบัติงาน ช่วยกันกำหนดปัญหา และเป็นเหตุให้เกิดการลองใช้วิธีการต่าง ๆ เข้าไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุง การกำหนดปัญหาเกิดหลังจากการสนทนาระหว่างผู้วิจัยกับผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้วิจัยกับผู้ปฏิบัติงานต่างก็เข้าใจกัน การวิจัยเชิงปฏิบัติการประเภทนี้แสวงหาหนทางเพื่อการปรับปรุงการปฏิบัติ โดยใช้สติปัญญาของผู้ร่วมปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ทำไปแก้ไขไปแล้วแต่สถานการณ์ เป้าหมายสำคัญของนักวิจัยแบบ practical action research คือ เข้าใจการปฏิบัติงานและแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (McKerman, 1991 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) วิจัยเชิงปฏิบัติการประเภทนี้ช่วยพัฒนาการทางวิชาชีพ โดยเน้นที่การตัดสินใจของผู้วิจัยเองที่มุ่งเพื่อให้เกิดสิ่งดี ๆ กับงานของตนและผู้เกี่ยวข้อง



            ประเภทที่ 3 การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่อิสระปลดปล่อยจากพันธการทั้งปวง (Emancipatory Action Research) หรือวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research)

            การวิจัยประเภทนี้ ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติเป็นไปอย่างอิสระเสรี โดยผู้ปฏิบัติงานทุกคนต่างมีความสามารถ มีจิตสำนึก มีวิจารณญาณส่วนตนในตัวเองที่จะผลักดันให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป้าหมายสำคัญ 2 ประการของวิธีการประเภทนี้ คือ ประการแรก การทำให้เกิดความใกล้เคียงกันมากขึ้นระหว่างปัญหาที่เกิดจริง (กับผู้ปฏิบัติงานในเฉพาะแห่งเฉพาะที่) กับทฤษฎีที่ใช้อธิบายและใช้แก้ปัญหา ประการที่สองซึ่งมีเป้าหมายเหนือกว่าวิจัย 2 ประเภทแรก คือ เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถกำหนดและสามารถดึงฐานเบื้องลึกของปัญหาออกมาได้โดยใช้ความสามารถรู้คิดที่มีอยู่ในตัวผู้ปฏิบัติงานเอง

            วิธีการแบบนี้ ต้องผ่านกระบวนการของการพัฒนาการวิพากษ์วิจารณ์ที่ทำให้เกิดการไกล่เกลี่ย และมีความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติ ดังนั้นการกระทำที่นำโดยการวิพากษ์วิจารณ์ก่อน จึงประกอบด้วย 3 อย่าง คือ ทฤษฎี การทำความกระจ่างแจ่มแจ้งในทฤษฎี และลงมือกระทำ (Grundy, 1982 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) ไม่ได้หมายความว่าการวิจัยประเภทนี้จะเริ่มต้นด้วยทฤษฎี และจบลงด้วยการปฏิบัติแต่เป็นการได้คำบอกกล่าวจากทฤษฎีก่อน ดังนั้น ทฤษฎีจึงเป็นแนวทางเริ่มต้นของการปฏิบัติ ความสัมพันธ์ที่เป็นพลวัตต์ระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติในการวิจัยประเภทนี้นำไปสู่การขยายทั้งทฤษฎีและการปฏิบัติ ในขณะที่ทำงานยังดำเนินการอยู่

            สิ่งสำคัญประการหนึ่งของการเชื่อมโยงทฤษฎีกับการปฏิบัติคือ การจัดกระบวนการของการทำความกระจ่างให้กับการนำทฤษฎีมาใช้และการทดสอบในลักษณะที่เฉพาะสิ่ง โดยใช้กระบวนการสะท้อน (process of reflection) กับกลุ่มคนเฉพาะกลุ่มหนึ่ง กระบวนการของการสะท้อนเหล่านี้จะทำให้เกิดความกระจ่างแจ้งในรูปของการรู้แจ้งเห็นจริง (authentic insights) ภายในตัวผู้ร่วมปฏิบัติงานและตามด้วยสื่อสารเกี่ยวกับการรู้แจ้งเห็นจริงเป็นลำดับถัดไป

            นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็คือ การจัดทำแผนเพื่อการปฏิบัติหลังจากกระบวนการทำความกระจ่างชัดในทฤษฎีแล้ว จากนั้นก็นำไปสู่การประยุกต์ใช้โดยการลงมือทำซึ่งจะทำให้เกิดการตัดสินใจเพื่อการปฏิบัติ ซึ่งอิสระจากข้อจำกัดหรือข้อขัดข้องทั้งปวงจากสิ่งแวดล้อม

            ความแตกต่างของวิจัยเชิงปฏิบัติการทั้ง 3 ประเภท ไม่ใช่อยู่ที่วิธีวิทยาการวิจัย แต่เป็นเรื่องของ ข้อตกลงเบื้องต้น (assumption) และทัศนะการมองโลกของผู้ปฏิบัติงานที่เป็นสาเหตุของความหลากหลายในการนำวิธีวิทยาการวิจัยไปใช้ (Grundy, 1982 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549)

            ความแตกต่างที่เด่นชัดตามที่ Grundy (1982 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นเรื่องของอำนาจ กล่าวคือวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ยึดเทคนิค ผู้มีอำนาจควบคุมคือ ตัวผู้วิจัยหลักที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้อำนวยความสะดวก ในขณะที่วิจัยเชิงปฏิบัติการที่เกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติ อำนาจเฉลี่ยอยู่ในกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วม เน้นไปที่แต่ละคนมีอำนาจในการลงมือกระทำ ส่วนอำนาจของวิจัยเชิงปฏิบัติการที่อิสระปลดปล่อยเป็นอำนาจทั้งหมดภายในของทั้งกลุ่ม



เป้าหมายการวิจัยปฏิบัติการ

1. เพื่อพัฒนาบุคลากร

-         การวิจัยปฏิบัติการเป็นการส่งเสริมให้ผู้ทำวิจัยได้ฝึกทักษะใหม่ ๆ เช่น การคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเอง การจดบันทึก เป็นต้น ทำให้สามารถพึ่งตนเองได้มากขึ้น

-         การวิจัยปฏิบัติการเป็นแนวทางส่งเสริม และพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง นักวิจัยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

2. เพื่อพัฒนางาน

-         โดยค้นหาปัญหา แสวงหาทางเลือก หรือวิธีการที่เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนางานอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

-         โดยประเมินสิ่งที่ค้นพบจากการวิจัย นำไปปรับแผน แล้วลงมือทำ







จุดเน้นของวิจัยเชิงปฏิบัติการ

            Kemmis and Mc Taggart (1988, pp.22-25: .วาสนา  ประวาลพฤกษ์ (แปล)2538, หน้า 41-46 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) กล่าวถึงจุดเน้นของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ 17 ข้อ ดังต่อไปนี้

            1. การวิจัยเชิงปฏิบัติการ เป็นวิธีการที่จะปรับปรุงการปฏิบัติงาน โดยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และอาศัยการเรียนรู้จากผลสืบเนื่องของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

            2. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นการวิจัยที่ต้องนำตัวเองเข้าไปร่วมในกิจกรรม เป็นการวิจัยที่บุคคลจะต้องดำเนินการเพื่อที่จะปรับปรุงงานที่ตนปฏิบัติอยู่ (และสามารถใช้แนวทางปฏิบัติของบุคคลอื่นเป็นข้อมูลทุติยภูมิ)

            3. การวิจัยเชิงปฏิบัติการดำเนินการผ่านขั้นตอนของการสะท้อนภาพตนเองในลักษณะเกลียวสว่าน ซึ่งมีวัฏจักรของการวางแผน การดำเนินงาน (การใช้แผนดำเนินงาน) การสังเกต (อย่างมีระบบ) การสะท้อนข้อมูล และหลังจากนั้นก็ย้อนกลับไปวางแผน การดำเนินการ การสังเกต และการสะท้อนข้อมูลเพื่อการวางแผนต่อไปใหม่ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนและมีระบบ โดยผ่านการกลั่นกรองวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้ดำเนินงานร่วมกัน

            4. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นการร่วมมือกันทำงาน การวิจัยประเภทนี้ต้องมีความรับผิดชอบในการกระทำเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น ขยายขอบเขตของความร่วมมือระหว่างกลุ่มที่ทำงานด้วยกัน โดยตรงให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อผลของการปฏิบัติที่จะตามมา

            5. การวิจัยเชิงปฏิบัติการก่อให้เกิดชุมชนแบบพัฒนาตนเอง โดยสมาชิกจะเข้าร่วมกิจกรรม และให้ความร่วมมือทุกขั้นตอนของกระบวนการวิจัย (การวางแผน การปฏิบัติงานตามแผน การสังเกตและการสะท้อนข้อมูล) โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างชุมชนให้พึ่งตนเอง มีความรับผิดชอบในการพัฒนาตนเองในด้านความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ การปฏิบัติ และผลสืบเนื่องที่ตามมา มีความเป็นอิสระในการที่จะคิดเกี่ยวกับสถาบันและตนเอง เพื่อที่จะสร้างกฎระเบียบ และคุณค่าทางสังคมของตนเองขึ้น

            6. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างมีระบบ ที่บุคคลปฏิบัติการตามเจตนาที่ไตร่ตรองดีแล้ว ซึ่งไม่ใช่การกระทำโดยบังเอิญ หรือไม่มีแผนงาน แต่เป็นกระบวนการของการใช้สติปัญญาอย่างรอบคอบ เพื่อที่จะดำเนินการใด ๆ ในการพัฒนาการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับ (มีข้อมูลพร้อมเพรียงที่จะยอมรับในการปฏิบัติ) โดยผ่านแนวทางของชีวิตที่แน่นอน มีคุณค่าทางการศึกษา

            7. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเกี่ยวข้องกับบุคคล ในการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการปฏิบัติสอบถามถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องระหว่างเหตุการณ์ การกระทำ และผลสืบเนื่องที่เกิดขึ้นทำให้เข้าใจสภาพความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำ และผลของการกระทำที่กระทบต่อชีวิตของเขา ซึ่งทฤษฎีของการวิจัยเชิงปฏิบัติการได้พัฒนาตามแนวหลักการนี้ กล่าวคือ ใช้ผลของการกระทำเป็นแนวทางพินิจพิเคราะห์ เพื่อพัฒนาการกระทำที่ผ่านกระบวนการของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

            8. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นการเปิดให้บุคคลทำการปฏิบัติตามแนวคิดของข้อสมมติเกี่ยวกับสถาบันที่ไม่ทดสอบ โดยเก็บรวบรวมกิจกรรมจากแนวปฏิบัติที่ผ่านมา ซึ่งมีความผิดพลาดมาตรวจสอบเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติในครั้งต่อไป

            9. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นการเปิดใจกว้างในการรวบรวมเหตุการณ์ (หรือข้อมูล) โดยไม่เพียงแต่เก็บรายละเอียดที่จะอธิบายสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนถูกต้องที่สุดเท่านั้น (โดยกำหนดคำถามที่จะหาคำตอบและการเก็บข้อมูลจากชีวิตจริง) แต่จะรวบรวมและวิเคราะห์ด้วยตนเองพร้อมทั้งการตัดสินชี้ขาดปฏิกิริยาโต้ตอบ และความประทับใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นด้วย

            10. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นการเก็บเรื่องราวส่วนตัว ซึ่งสามารถจะบันทึกความก้าวหน้าและสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ 2 ชุดคู่ขนานกัน คือ การเรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติที่กำลังศึกษาอยู่ (การปฏิบัติของเรากำลังพัฒนาไปอย่างไร) และการเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการ (การปฏิบัติการ) ของการศึกษา (โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการของเราดำเนินไปอย่างไร)

            11. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นกระบวนการทางการเมือง เพราะการวิจัยนี้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลต่อผู้อื่น ด้วยเหตุนี้การวิจัยเชิงปฏิบัติการจะทำให้เกิดการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ทั้งในตัวเองของผู้วิจัยและผู้อื่นอีกด้วย

            12. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเกี่ยวข้องกันคน ในการวิเคราะห์ขั้นวิกฤติเกี่ยวกับสถานการณ์ (ชั้นเรียน โรงเรียน ระบบ) ที่เขาดำเนินการอยู สภาพการณ์เหล่านี้เป็นระบบของสถาบัน หรือแบบของการต่อต้านที่นักวิจัยเชิงปฏิบัติการพบก็คือ การเปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างแนวทางใหม่กับแนวเดิมที่ได้รับการยอมรับในสถาบันอยู่แล้ว (การยอมรับในแง่ของการสื่อสาร การปฏิบัติ การตัดสินใจ และงานด้านการศึกษา) ด้วยการวิเคราะห์ในสถาบันนั้น นักวิจัยเชิงปฏิบัติการสามารถจะเข้าใจถึงรากฐานของการต่อต้านและความขัดแย้ง โดยมีการแข่งขันระหว่างการปฏิบัติ แนวคิดด้านการศึกษา และคุณค่าด้านองค์การ และการตัดสินใจ ซึ่งความเข้าใจนี้จะช่วยให้นักวิจัยเชิงปฏิบัติการสามารถผ่านพ้นอุปสรรคและการต่อต้านนี้ไปได้ (ดังตัวอย่างเช่น การขอความร่วมมือกับผู้อื่นในกระบวนการวิจัย ชักชวนให้ผู้อื่นตรวจสอบการกระทำหรือการปฏิบัติงาน หรือโดยการทำงานร่วมกันในบริบทของโรงเรียนที่กว้างออกไป เพื่อที่จะเข้าใจระบบการศึกษาดีขึ้น เข้าใจระบบการตัดสินใจ และงานการศึกษาด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง)

            13. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเริ่มต้นด้วยงานเล็ก ๆ โดยการทำงานผ่านกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะเป็นเพียงบุคคลเดียว (ตัวฉันเอง) ก็สามารถจะลองทำได้ และขยายงานต่อไปเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดหรือสถาบัน ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูปนโยบายหรือแนวปฏิบัติในชั้นเรียน โรงเรียน หรือระบบในวงกว้างออกไป

            14. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเริ่มจากวัฏจักรเล็ก ๆ ของการวางแผน การปฏิบัติ การสังเกตและการสะท้อนภาพ ซึ่งจะช่วยให้นิยามประเด็นปัญหา แนวคิด และข้อตกลงเบื้องต้นได้ชัดเจนขึ้น อันจะนำไปสู่การนิยามปัญหาที่มีความยากและซับซ้อนมากขึ้น เมื่อการดำเนินงานก้าวหน้าต่อไป

            15. การวิจัยเชิงปฏิบัติการเริ่มจากผู้ทำงานร่วมมือกันในกลุ่มเล็ก ๆ แล้วขยายวงกว้างสู่การปฏิบัติการในชุมชน

            16. การวิจัยเชิงปฏิบัติการจะช่วยให้เราสามารถรวบรวมบันทึกความก้าวหน้าต่าง ๆ () บันทึกเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงด้านกิจกรรมและการปฏิบัติ () บันทึกความเปลี่ยนแปลงด้านสื่อภาษา คำอธิบายและวิจารณญาณเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน () บันทึกการเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ทางสังคมและรูปแบบขององค์กร ที่อธิบายคุณลักษณะของการปฏิบัติของเรา และ () บันทึกพัฒนาการให้มีความรอบรู้เกี่ยวกับการวิจัยเชิงเชิงปฏิบัติการของเรา

            17. การวิจัยเชิงปฏิบัติการทำให้สามารถแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ และการตรวจสอบเหตุผลว่ากำลังทำอะไร ในการพัฒนาเหตุผลเหล่านี้ ซึ่งอาจจะขอให้ผู้อื่นพิจารณาการปฏิบัติงานในแง่ของทฤษฎีและหลักฐาน เพื่อสะท้อนผลการปฏิบัติที่ได้จากผู้อื่นร่วมกับส่วนของตนเองด้วย



ข้อดีหรือประโยชน์จากการใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการ

            การเลือกใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการมีเหตุผลมากมาย ดังนี้

            1. วิจัยเชิงปฏิบัติการใช้กับงานที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยผู้ปฏิบัติงานซึ่งเป็นผู้ทำงานในฐานะเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สามารถใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมปกติได้ คนที่เลือกใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการเนื่องจากไม่สามารถหาวิธีวิจัยอื่นที่สามารถให้บูรณาการเข้ากับงานภาคปฏิบัติได้ โดยเฉพาะลักษณะสำคัญ คือ ความยืดหยุ่น และนอกจากนี้ในหน่วยงานทางวิชาการ หรือสถาบันการศึกษา กดดันให้ตีพิมพ์เอกสารทางวิชาการให้มากขึ้นขณะเดียวกัน งานวิจัยเป็นงานเพิ่มภาระที่หนักมาก การวิจัยเชิงปฏิบัติการจึงเป็นทางเลือกที่เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานนำมาใช้มากขึ้น

            2. เมื่อผู้ปฏิบัติงานใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการเพราะ มีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนปริมาณของการเรียนรู้อย่างจริงจังจากประสบการณ์ของตนเอง วงจรของวิจัยเชิงปฏิบัติการสามารถจัดว่าเป็นลักษณะอย่างเดียวกับวงจรการเรียนรู้ (learning cycle)  นักการศึกษา Schon (1983, 1987 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) เน้นอย่างแข็งขันว่า การสะท้อนอย่างมีระบบเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อการเรียนรู้สำหรับผู้ปฏิบัติงาน

            3. สำหรับผู้ที่เคยทำวิจัยเชิงปฏิบัติการสะสมไว้ในประวัติการทำงาน ก็เป็นการดีสำหรับเจ้าของประวัติที่ทำอะไรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานที่ทำ ถ้ายิ่งได้ผลลัพธ์ที่มีคุณค่าต่อผู้เรียนโดยตรงก็ยิ่งได้ประโยชน์เป็นทวีคูณ

            4. วิจัยเชิงปฏิบัติการโดยปกติเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม แสดงว่ามีการร่วมกันระหว่างครูกับนักเรียน อาจพบว่าต่างฝ่ายต่างก็พึงพอใจต่อการมีส่วนร่วม ทำให้ผลการปฏิบัติดีขึ้น ซึ่งตอบสนองวัตถุประสงค์บางข้อที่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาทางวิชาชีพ และนอกจากนี้การมีส่วนร่วมมีความหมายกว้างขึ้นระหว่างครูอื่น ๆ ที่สอนชั้นเดียวกัน ครูอื่น ๆ ที่สอนวิชาเดียวกันในระดับชั้นอื่น ๆ ร่วมด้วยช่วยกันในการพัฒนาการเรียนการสอน

ข้อเสียหรือจุดอ่อนจากการใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการ

            ข้อเสียหรือจุดอ่อนจากการใช้วิจัยเชิงปฏิบัติการมีดังนี้

            1. การทำวิจัยเชิงปฏิบัติการยากกว่าการทำวิจัยทั่วไป เพราะผู้ทำรับผิดชอบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและทำวิจัยไปพร้อม ๆ กัน ทำให้รู้สึกว่ามีภาระงานมากแถมยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเชื่อถือเท่าที่ควร

            2. งานวิจัยเชิงปฏิบัติการไม่เป็นไปตามความคาดหวังของผู้ตรวจสอบ หรือผู้ประเมินบางคน ซึ่งเคร่งครัดกับหลักการเฉพาะของวิธีการวิจัยแบบเดิม ๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างของวิธีวิทยาการวิจัยและหลักการที่ต่างกันระหว่างวิจัยเชิงปฏิบัติการกับวิจัยเชิงอื่น ๆ

            3. อาจเนื่องจากมีคนมากมายที่ไม่รู้มากนักเกี่ยวกับวิจัยเชิงปฏิบัติการ เมื่อเทียบกับวิจัยเชิงอื่นที่ได้รับการสอนจากกระบวนการวิชาวิจัยที่เปิดสอนทั่วไป ส่วนวิจัยเชิงปฏิบัติการเรียนรู้ได้ดีกว่าเมื่อเปิดโอกาสให้ทำไปเรียนรู้ไป

            4. การเขียนรายงานการวิจัยอาจไม่สามารถใช้แบบฟอร์มการเขียนรายงานวิจัยทั่วไปเป็นการเรียนรู้ทักษะใหม่

            5. งานวิจัยเชิงปฏิบัติการมีความยากอยู่บ้างในการเขียนรายงาน เพราะมีรายละเอียดของกระบวนการและผลย่อย ๆ ผู้วิจัยต้องเน้นพิจารณาตัดสินถึงภาพรวมของวิธีที่ใช้ศึกษาทั้งหมด ผู้วิจัยต้องแสดงให้ชัดเจนถึงหลักการเหตุผลอย่างหนักแน่นเพียงพอ เพราะบางครั้งผู้ตรวจผลงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ อาจไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีการเหล่านี้ เพราะผู้ตรวจผลงานส่วนใหญ่ยังติดยึดกับการวิจัยรูปแบบเดิม

            6. รายงานวิจัยเชิงปฏิบัติการค่อนข้างยาว หรือหนากว่าวิจัยปกติทั่วไป เนื่องจากมีข้อมูลสะท้อนกลับเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังทำ ทำให้ต้องพิจารณา ต้องตัดสินใจตลอดเพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น การรายงานจึงประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนหนึ่งอธิบายถึงวิธีการ ผลและการแปลผล อีกส่วนหนึ่งคืออธิบายว่าทำไมเรื่องเหล่านี้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางวิจัย ยิ่งถ้าผู้วิจัยใช้ข้อมูลพฤติกรรมก็ยิ่งต้องใช้เนื้อหาที่มากทำให้รายงานยาวขึ้นอีก

            พิจารณาแล้วพบว่าข้อเสียมีมากกว่าข้อดี อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้วิจัยจะเลือกวิธีการวิจัยแบบใดต้องทำให้มีคุณภาพอย่างเต็มที่ให้ได้ นั่นคือ ผู้วิจัยต้องมีวิธีของการประกันคุณภาพของข้อมูลที่รวบรวมได้ และความถูกต้องของการแปลผล และเสนอการแปลผลที่คงเส้นคงวาโดยมีข้อมูลเชิงประจักษ์ประกอบ นอกจากนี้คุณค่าของวิจัยเชิงปฏิบัติการอยู่ที่การตอบสนองระหว่างการปฏิบัติงาน มีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่ไม่ดี จนกระทั่งดีขึ้นหรือมีคุณภาพในที่สุด การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรง การทุ่มเทเวลาและพลังงาน ความริเริ่มสร้างสรรค์ และค้นพบว่าเมื่อใช้ทักษะ และวิธีการดำเนินการทำนองเดียวกันนี้ จะก่อให้เกิดความพึงพอใจในทำนองเดียวกันเสมอ

ลักษณะสำคัญของการวิจัยปฏิบัติการ

            การวิจัยเชิงปฏิบัติการเริ่มจากการปรับปรุงงานของตนเป็นรายบุคคล แล้วขยายวงกว้างออกไปเพื่อเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รับรู้ และยิ่งหากลักษณะปัญหาอย่างเดียวกันต้องได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนางานเหมือน ๆ กันก็ร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ดังนั้น ลักษณะสำคัญของวิจัยเชิงปฏิบัติการคือ

            1. จับงานที่ตนปฏิบัติอยู่ ลงมือดำเนินการด้วยสรรพวิธีเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข

            2. กระบวนการดำเนินการโดยผ่านวงจรต่อเนื่องกันเป็นชุด ๆ เป็นวงจรเกลียวสว่าน (วงจรหนึ่งประกอบด้วย วางแผน ลงมือปฏิบัติ สังเกต-รวบรวมข้อมูล และสะท้อนผล) ซึ่งวนอย่างเป็นระบบและปฏิบัติการอย่างมีวิจารณญาณ การปฏิบัติมีความสอดคล้องรองรับกัน มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันจนเกิดผลการเปลี่ยนแปลงขึ้น

            3. ลักษณะการตอบสนองทันเวลา ทันเหตุการณ์ในขณะปฏิบัติงาน ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับข้อมูลเชิงคุณภาพ

            4. กิจกรรมทุกระยะสามารถเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับงานหรือผู้ร่วมงานรับรู้ เข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันแลกเปลี่ยนความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการปฏิบัติงานและผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ และพยายามให้การร่วมด้วยช่วยกันดำรงคงอยู่ เพราะเป็นการช่วยควบคุมกระบวนการของการปฏิบัติให้มีความเหมาะสมไปในตัวด้วย

            ในบางงานของวิจัยเชิงปฏิบัติการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม (participation) เพราะการมีส่วนร่วมทำให้เกิดข้อมูลผูกมัดให้ลงมือทำ เพื่อหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ Dick (2001) ให้แง่คิดว่าควรเปิดให้เป็นทางเลือกว่าวิจัยเชิงปฏิบัติการจะเน้นหนักไปทางใดระหว่างข้อมูลเชิงคุณภาพกับการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง เพราะยังต้องพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ และขึ้นกับการเน้นน้ำหนักระหว่างข้อดี ข้อเสียต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกด้วย ซึ่งสามารถสรุปได้เป็นประเด็นดังนี้

ตารางที่ 2 สรุปลักษณะสำคัญของการวิจัยปฏิบัติการ

ที่
ประเด็น
ลักษณะสำคัญ
1
ปัญหาการวิจัย
เกิดจากการปฏิบัติงานจริง เป็นปัญหาที่พบในที่ทำงาน
2
วิธีการวิจัย
1.         การวิจัยดำเนินการไปพร้อมกับการทำงานปกติเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน
2.         มีความยืดหยุ่น สามารถปรับให้เหมาะสมกับสภาพการดำเนินงานของผู้ปฏิบัติงาน
3.         กระบวนการวิจัยมีความเชื่อมโยงระหว่างการคิดเชิงสะท้อนและการปฏิบัติอย่างชัดเจน มีการพิจารณาทบทวนทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการวิจัย
3
ผลการวิจัย

1.         เป็นการสะท้อนกลับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของตนเอง
2.         ผลที่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
3.         ผลที่ได้นำไปสู่การปรับแผนการทำงาน เช่น การแก้ปัญหา การวางแผนการผลิต การวางแผนการตลาด หรือ การหาแหล่งทุนใหม่ เป็นต้น
4.         ผลที่ได้นำไปสู่การประเมินผลเพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้น
5.         ผลที่ได้จากการวิจัย เป็นผลที่อธิบายได้เฉพาะกรณีนั้นๆ ไม่เหมาะสมที่จะนำไปอธิบายกรณีอื่นๆ
4
เน้นการทำงานเป็นทีม

1.         การวิจัยปฏิบัติการใช้กระบวนการกลุ่มเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน
2.         เปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมงาน มีส่วนวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานและผลที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัยปฏิบัติการ
3.         เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้ร่วมทำวิจัย



ข้อแตกต่างระหว่าง Action Research กับ Formal Research

เนื่องจากการวิจัยตามรูปแบบ (Formal Research) มีรายละเอียดและรูปแบบที่จะต้องยึดถืออยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดข้อยุงยากและข้อจำกัดในการทำวิจัยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะกับผู้ที่ไม่มีพื้นฐาน หรือความรู้ทางด้านระเบียบวิธีวิจัยที่ดีพอ วิธีวิจัยเชิงปฏิบัติการจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ไขข้อยุ่งยากที่เกิดจากการวิจัยตามรูปแบบและมีความเหมาะสมสำหรับครูในการนำมาใช้ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน มีการลดขั้นตอน และข้อจำกัดที่เป็นของการวิจัยตามรูปแบบลงไป ทำให้ง่ายที่จะทำความเข้าใจ และนำไปใช้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการวิจัยตามรูปแบบกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการ จึงขอเสนอข้อเปรียบเทียบระหว่างการวิจัยเชิงปฏิบัติการกับการวิจัยตามรูปแบบ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้



ตาราง 3 ข้อเปรียบเทียบระหว่าง Formal Research กับ Action Research

หัวข้อ
Formal Research
Action Research
1. ผลการวิจัย
มีความกว้างขวาง และครอบคลุม อ้างอิงไปใช้กับกลุ่มอื่นได้
เฉพาะที่ เฉพาะเรื่อง ไม่สามารถอ้างอิงไปใช้กับกลุ่มอื่นได้
2. จุดมุ่งหมายของการวิจัย
มุ่งศึกษา ค้นหาความรู้เพื่อนำไปใช้กับบุคคล หรือสถาการณ์ทั่วไปไม่เจาะจง
มุ่งศึกษา ค้นหาความรู้เพื่อที่นำไปใช้กับบุคคล หรือสถาการณ์เฉพาะที่ใดที่หนึ่ง
3. วิธีการกำหนดปัญหาที่นำมาศึกษา
ศึกษาจากปัญหาวิจัยที่ทำมาก่อนหรือปัญหาที่มีมุมมองกว้าง
ได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าหรือจากเป้าหมายในขณะนั้น
4. กระบวนการที่ใช้ในการค้นคว้าเอกสารและงานวิจัย
ทำอย่างกว้างขวาง ชัดเจน และเป็นแหล่งปฐมภูมิ
ค้นคว้าอย่างง่าย ๆ และเป็นแหล่งทุติยภูมิ
5. วิธีการได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่าง
ใช้วิธีการสุ่มเลือกโดยใช้วิธีการทางสถิติ และความน่าจะเป็น
เป็นนักเรียนในห้องเรียน หรือผู้ทำงานร่วมกัน
6. แผนแบบการวิจัย
มีการควบคุมตัวแปรอย่างเข้มงวดและใช้ระยะเวลายาวนาน
ตัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นบางอย่างออกไป ใช้ระยะเวลาสั้น ไม่เข้มงวดในการควบคุมตัวแปร
7. กระบวนการวัดผล
ประเมินผล และมีการวัดก่อนการทดลอง ระหว่างการทดลอง และหลังการทดลอง
วัดตามแบบปกติหรือใช้แบบทดสอบมาตรฐาน
8. การวิเคราะห์ข้อมูล
ใช้วิธีการทดสอบนัยสำคัญทางสถิติ หรือวิธีการเชิงคุณภาพ
ขึ้นอยู่กับความชัดเจนของการกระทำ เสนอเป็นข้อมูลดิบ และไม่เน้นการทดสอบนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งจะมีหรือไม่มีก็ได้
9. การประยุกต์ใช้ผลการวิจัย
ยึดความสอดคล้องตามทฤษฎี
ยึดความสอดคล้องในการปฏิบัติ
10. ระยะเวลาในการศึกษา
ใช้ระยะเวลานานเป็นภาคเรียนหรือปีการศึกษา หรือมากกว่านั้น
ใช้ระยะเวลาสั้น ๆ ตามหัวข้อหรือประเด็นที่ศึกษา







ความตรงของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

            Anderson และคณะ (1994 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) กำหนดเกณฑ์สำหรับพิจารณาความตรงของวิจัยเชิงปฏิบัติการ คือ ความตรงด้านประชาธิปไตย (democratic validity) ความตรงด้านผลลัพธ์ (outcome validity) ความตรงด้านกระบวนการ (process validity) ความตรงด้านจุดประกายขยายผล (catalytic validity) และความตรงด้านการพูดถึงงานวิจัย (dialogic validity) ดังรายละเอียดต่อไปนี้

            ความตรงด้านประชาธิปไตย เป็นความตรงที่เกี่ยวข้องกับการได้ข้อมูลความเห็นของ  หลาย ๆ ฝ่ายที่เป็นผู้มีส่วนร่วมทั้งหมดในงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ (ครู ครูใหญ่ ผู้ปกครอง และนักเรียน) สิ่งสำคัญสำหรับนักวิจัย คือ ทำอย่างไรจึงจะแน่ใจได้ว่าความเห็นต่าง ๆ ของผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่ายได้รวบรวมอย่างครบถ้วนแล้วหรือไม่ ทางหนึ่งที่จะแน่ใจว่ามีความตรงด้านประชาธิปไตยในงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ คือ ให้ครูผู้วิจัยกับผู้บริหารร่วมมือกันกับผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษา ต้องมั่นใจว่าปัญหามาจากบริบทเฉพาะ และการแก้ปัญหาใช้วิธีที่เหมาะสมกับบริบทนั้น ๆ (Cunningham, 1983 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549)

            ความตรงด้านผลลัพธ์ เป็นความตรงที่ได้จากการลงมือทำโดยวิธีที่คิดขึ้น แล้วนำไปสู่ผลสำเร็จของการแก้ปัญหา นั่นคือเรื่องที่ศึกษามีความตรง คือ เรื่องที่นักวิจัยลงมือทำเพื่อแก้ปัญหา ขณะทำได้เรียนรู้บางอย่างและสามารถทำให้ดีขึ้นในวงจรถัดไปได้ เป็นเหตุให้ปัญหาที่เคยมีลดลงหรือหมดไป หรือเกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของชั้นเรียน หรือโรงเรียนซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

            ความตรงด้านกระบวนการ เป็นความตรงที่ได้จากกระบวนการวิจัยที่เกิดจากการขัดเกลาในระหว่างปฏิบัติงานวิจัย กล่าวคือ นักวิจัยเฝ้าสะท้อนถึงความเหมาะสมของเทคนิค การรวบรวมข้อมูลและปรับเปลี่ยนยุทธวิธีการรวบรวมข้อมูลทุกโอกาสที่พบว่า ข้อมูลที่รวบรวมมานั้นยังไม่ตอบคำถามที่นักวิจัยกำหนดขึ้น

            ความตรงด้านจุดประกายขยายผล เกณฑ์ของความตรงด้านนี้ คือ ต้องการผู้มีส่วนร่วมในเรื่องที่วิจัยลุกขึ้นมาลงมือทำวิจัย เมื่อมีความเข้าใจกลุ่มที่ศึกษามากขึ้น ก็จะเป็นผู้ชักชวนและดึงคนอื่น ๆ เข้ามาร่วมกันลงมือทำ เพื่อการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างขึ้น การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่มีความตรงด้านจุดประกายขยายผลได้ ต่อเมื่องานวิจัยดึงท่านและบุคคลอื่น ๆ ให้มาร่วมมือทำเพื่อการเปลี่ยนแปลง

            ความตรงด้านการพูดคุยถึงงานวิจัย ความตรงประเภทนี้ได้จากการพูดคุยหรือสนทนาอย่างมีวิจารณญาณกับบุคคลอื่น ๆ เกี่ยวกับข้อค้นพบ และการนำไปใช้ที่ได้จากงานวิจัยของครู นักวิจัย ซึ่งเป็นเพื่อนครูด้วยกัน ความดีงามของงานวิจัยเกิดขึ้น จากการศึกษาค้นคว้าของผู้สืบค้นที่สนใจงานวิจัยเชิงปฏิบัติการของเพื่อนครู แล้วนำไปสู่การพูดคุยในเวทีเสวนาทางวิชาการ

           

สรุปเกณฑ์ของ Anderson ที่กล่าวถึงความตรงของวิจัยเชิงปฏิบัติการ ดังแสดงในตารางที่ 4



ตารางที่ 4  เกณฑ์ของ Anderson ความตรงของวิจัยเชิงปฏิบัติการ



เกณฑ์
คำถามสำหรับตรวจสอบ
1. ความตรงด้านประชาธิปไตย

2. ความตรงด้านผลลัพธ์

3. ความตรงด้านกระบวนการ


4. ความตรงด้านจุดประกายขยายผล


5. ความตรงด้านการพูดถึงงานวิจัย
-          ได้ข้อมูลครอบคลุมฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือครบทุกฝ่ายที่เป็นตัวแทนหรือไม่
-     การลงมือทำในเรื่องที่วิจัยนำไปสู่ผลสำเร็จของการแก้ปัญหาหรือไม่
-     กระบวนการของการวิจัยมีการใช้เทคนิคการรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสมในการตอบคำถามของการวิจัยหรือไม่
-     ผลของการวิจัยมีส่วนเป็นตัวชักชวนให้ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนร่วมหันมาช่วยกันลงมือทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
-     เรื่องที่วิจัยมีผู้ร่วมงานนำมาพูดคุยและนำข้อค้นพบไปใช้หรือไม่



            ส่วนความตรงตามเกณฑ์ของ Wolcott (1994 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) คือ

            พูดน้อยฟังมาก  เมื่อมีการสัมภาษณ์หรือสนทนาแบบไม่เป็นทางการกับเด็ก ผู้ปกครองหรือเพื่อนครู ควรพูดน้อยฟังมาก อดทนรอคำตอบ และซักไซร้ด้วยคำถามหลากหลายเพื่อให้เกิดความกระจ่างหรือมีรายละเอียดมากขึ้นในประเด็นของสาระที่ต้องการได้ข้อมูล

            บันทึกการสังเกตการณ์อย่างถูกต้อง  โดยปกตินักวิจัยอาจมีความยากลำบากที่จะบันทึกการสังเกตพร้อม ๆ กับการสอน อย่างไรก็ตามควรบันทึกทันทีที่สามารถบันทึกได้หลังการสอน และอาจใช้การบันทึกเสียงหรือบันทึกวีดีทัศน์ช่วยและได้ข้อมูลถูกต้องตามความจริงด้วย แต่นักวิจัยส่วนใหญ่ก็ยังพึ่งการบันทึก เพราะได้บันทึกการสะท้อนความคิดและบันทึกเตือนความทรงจำไว้

            เริ่มเขียนบันทึกตั้งแต่เนิ่น ๆ การเขียนบันทึกเรื่องการสอนหรือการสังเกตการณ์จะช่วยเป็นหลักฐานแก่ตัวนักวิจัยเองว่ายังมีช่องว่างอะไรที่ต้องเติม เช่น จะถามอะไรอีกในวันถัดไปหรือต้องเพิ่มการสังเกตอะไรอีก

            รายงานรายละเอียดทุกอย่างที่พบ  ในการตอบคำถามวิจัยและผลของการแก้ปัญหาเรามักละเลยข้อมูลที่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกัน ที่ถูกแล้วเราไม่ควรกลัวข้อมูลขัดแย้ง ควรจะติดตามและค้นหาคำอธิบายต่อไปเพื่อเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในชั้นเรียน

            เปิดเผยและตรงไปตรงมา  นักวิจัยควรเปิดเผยและตรงไปตรงมาในงานของตนด้วยการเขียนบรรยายในรายงานวิจัยให้ชัดเจน เพราะเป็นการง่ายที่ใช้การบรรยายในการตรวจหาความตรง การเปิดเผยและตรงไปตรงมายังให้โอกาสที่ทำให้เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างวิจัยมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งส่งผลถึงผลการวิจัย

            รับฟังความเห็นต่อรายงานวิจัยจากบุคคลอื่น ๆ  รับฟังความคิดเห็นต่อรายงานวิจัยจากบุคคลอื่น ๆ เช่น ผู้ร่วมงาน (หรือนักเรียน ผู้ปกครอง ผู้อาสาสมัคร และผู้บริหาร) ผู้อ่านจะช่วยตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องหรือชี้จุดที่คลุมเครือเพื่อช่วยให้นักวิจัยปรับให้ถูกต้องหรือขยายความให้ชัดเจนขึ้น

            เขียนรายงานถูกต้องชัดเจน  เมื่อเขียนรายงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเสร็จ นักวิจัยควรให้เพื่อนสนิทอ่านเพื่อค้นหาสิ่งขัดแย้งในเนื้อความ เพราะคนนอกอ่านอาจเห็นได้ชัดกว่าเจ้าของเรื่อง ทั้งนี้เนื่องจากความถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญของความตรง



ความเชื่อมั่นของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ



            ความเชื่อมั่น (Reliability) หมายถึงความคงเส้นคงวาของข้อมูลเมื่อเราวัดสิ่งที่ต้องการวัดซ้ำ ๆ ถ้าเราใช้เครื่องมือหรือแบบทดสอบเดียวกันวัดหลายครั้ง จะได้ผลอย่างเดียวกัน สำหรับวิจัยเชิงปฏิบัติการ หมายถึง ข้อมูลมีลักษณะคงที่หรือลักษณะทำนองเดียวกันเมื่อใช้เทคนิคเดิมมากกว่าหนึ่งครั้ง หรือความสอดคล้องของข้อมูลจากผู้รวบรวมข้อมูลชุดเดียวกันอย่างน้อยสองคนหรือมากกว่าถือว่าข้อมูลที่ได้มีความเชื่อมั่น



ความลำเอียงส่วนบุคคลในการดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

            ในการดำเนินการวิจัย ถ้าเราทำอย่างมีระบบ มีวินัย ก็จะดำเนินการไปได้อย่างยาวไกล โดยให้มีความลำเอียงส่วนบุคคลน้อยที่สุดในข้อค้นพบของงานวิจัย อย่างไรก็ตาม วิจัยเชิงปฏิบัติการเปิดโอกาสที่ทำให้มี ความเป็นปรนัยและ เปิดกว้างให้เสมือนเป็นกระจกเงาของข้อค้นพบและส่งสะท้อนถึงสิ่งที่เราเห็นกับตา และขณะเดียวกันเราเป็นผู้เลือกให้มีการรวบรวมข้อมูลเพียงเพื่อตรวจสอบความตรงของสิ่งที่ปฏิบัติอยู่ โดยเฉพาะการยืนยัน การคงสภาพเดิมและยังเลือกที่จะเพิกเฉยต่อข้อมูลที่ขัดแย้ง ทำให้ผลการวิจัยขาดความน่าเชื่อถือ และทำนองเดียวกัน การศึกษาทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ครูผู้วิจัยอาจเลือกศึกษาเฉพาะที่สนับสนุนงานของตนเท่านั้น สิ่งที่กล่าวทั้งหมดนี้ล้วนไม่น่าเป็นที่ยอมรับ เพราะเป็นแหล่งของความลำเอียงนั่นเอง จึงควรต้องมีการเตรียมข้อเสนอไว้ล่วงหน้าดังนี้





            เตรียมข้อเสนอไว้ล่วงหน้า

            ทางหนึ่งที่นักวิจัยจะได้ค้นพบความลำเอียงของตนในเรื่องที่ตนกำลังวิจัย คือ เขียนรายงานข้อเสนอว่า ตนคิดว่าตนจะพบอะไรระหว่างการทำวิจัย ข้อเสนอเหล่านี้จะแสดงถึงระบบความเชื่อและความลำเอียงส่วนตัวที่บ่อยครั้งเล็ดลอดปะปนเข้าไปในการทำวิจัย ข้อความเหล่านี้ให้จุดเริ่มต้นที่ดีในการตรวจสอบที่มาของทฤษฎีของนักวิจัยเกี่ยวกับการสอนและการเรียนรู้

            ตัวอย่าง เช่น ครูคนหนึ่งประสงค์ที่จะศึกษาผลของการใช้กิจกรรมที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ โดยเขียนข้อเสนอไว้ล่วงหน้าว่า

            1. การใช้กิจกรรมสอนคณิตศาสตร์จะเพิ่มความรู้ที่เป็นความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์

            2. การใช้กิจกรรมจะช่วยลดความวิตกกังวลทางคณิตศาสตร์ เพราะเด็ก ๆ จะมีความสนุกสนานมากขึ้นในการเรียนคณิตศาสตร์

            3. การใช้กิจกรรมจะปรับปรุงทักษะพื้นฐานเรื่องเลขจำนวนจริง

            เมื่อพิจารณาข้อเสนอเหล่านี้แล้ว ทำให้ทราบว่านักวิจัยมีความเชื่อว่า เขาจะค้นพบอะไรบ้างก่อนเขาเริ่มดำเนินการวิจัย และบ่งบอกด้วยว่า เขาอาจทำอะไรที่ทำให้เกิดความแน่ใจเกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลให้เป็นไปตามที่ต้องการ (แสดงถึงความลำเอียงของนักวิจัย) ทำนองเดียวกันนี้ ข้อเสนอนี้ช่วยให้เกิดความกระจ่างในกรอบความคิดของนักวิจัยเกี่ยวกับเรื่องที่ทำวิจัย โดยทำให้ทฤษฎีชัดเจน ซึ่งมีผลต่อสิ่งที่ทำทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการวิจัย

            นอกจากการคำนึงถึงคุณภาพของงานวิจัยเชิงปฏิบัติการด้านความตรง ความเชื่อมั่นแล้วสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยนักวิจัยคำนึงถึงจรรยาบรรณในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ



จรรยาบรรณในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ



            ในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ ผู้มีส่วนร่วมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการวิจัย ดังนั้นจึงมีคำถามว่าต้องได้รับคำยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนรวบรวมข้อมูลหรือไม่ จากผู้มีส่วนร่วม ทั้งนี้ขึ้นกับนักวิจัยที่จะพัฒนาเกณฑ์ขึ้นเองตามที่พิจารณาว่าเป็นพฤติกรรมของจรรยาบรรณ

            แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับจรรยาบรรณ

            แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับจรรยาบรรณต่อไปนี้จะช่วยนักวิจัยตอบสนองได้อย่างเหมาะสม เมื่อเผชิญกับการตัดสินใจทางจรรยาบรรณ ทั้งระยะก่อน ระหว่าง และหลังการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ (ประยุกต์ จาก Christians, 2000; Smith, 1990 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549)

            ทัศนะต่อจรรยาบรรณ

            นักวิจัยควรมีทัศนะต่อจรรยาบรรณ ซึ่งใกล้เคียงมากกับจรรยาบรรณส่วนบุคคลตัวอย่าง เช่น การทำโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นทีม เกี่ยวกับผลของหลักสูตรการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่มีผลต่อสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเจตคติต่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของนักเรียน ครูได้แจกแบบสำรวจเจตคติให้นักเรียนตอบ ข้อมูลการสำรวจวิเคราะห์โดยกลุ่มนักวิจัยที่เป็นตัวแทนจากทุกระดับชั้นในโรงเรียน ระหว่างการวิเคราะห์พบว่า นักเรียนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจกับการสอนคณิตศาสตร์ และแสดงความเห็นทางลบเกี่ยวกับครูคนหนึ่ง ท่านจะทำอย่างไรกับข้อมูล ควรให้กลุ่มครูทั้งหมดรับรู้ข้อมูลดิบด้วยกันหรือไม่ ใครได้รับความเสียหายบ้าง มีข้อดีอะไรที่เกิดจากการเปิดเผยข้อมูล หรืออาจารย์ใหญ่ได้ข่าวปัญหาของครูคนหนึ่ง และขอข้อมูลเพื่อว่าจะได้วางแผนช่วยเหลือครูดังกล่าว คณะผู้วิจัยควรรับมืออย่างไร มีข้อประกันความรั่วไหลของความลับของผู้ให้ข้อมูล และผู้มีส่วนร่วมก่อนรวบรวมหรือไม่ เมื่ออาจารย์ใหญ่ถามความเห็นท่านจะตอบอย่างไร

            ภาพดังกล่าวนี้ไม่มีเจตนาทำให้ท่านกลัว จนไม่กล้าทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นธรรมชาติที่บางครั้งมีสิ่งที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ครูต้องเผชิญหน้าทั้งเกี่ยวกับตัวเองและเพื่อนร่วมงาน สามารถหากิจกรรมที่ควรแก่การทำความกระจ่างชัดเจนทั้งแบบรายบุคคลหรือแบบกลุ่ม เตรียมตอบสนองในลักษณะที่ตัวเองสบายใจ และเป็นธรรมชาติหรือสามารถตอบสนองในลักษณะที่เป็นตัวบุคคลตามความเหมาะสม

            การได้รับคำยินยอม

            ก่อนอื่นต้องชัดเจนว่า ท่านมีความต้องการขออนุญาตหรือได้รับคำยินยอมจากกลุ่มที่ศึกษาหรือไม่ ท่านอาจพิจารณาได้จากการอภิปรายโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการกับผู้บริหาร ซึ่งสามารถบอกได้ว่าจำเป็นต้องมีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ เช่น ถ้าท่านใช้ภาพถ่ายหรือวีดีทัศน์เป็นเทคนิคการรวบรวมข้อมูล และตั้งใจจะใช้ภาพเหล่านั้นเสนอผลงานในที่ประชุมสัมมนา ท่านคงต้องแน่ใจว่า ได้มีการตรวจสอบว่ามีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องมีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร ทำนองเดียวกัน คงต้องหาวิธีแจ้งให้นักเรียนทราบว่า เขาเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ศึกษาในงานวิจัย ตัวอย่างเช่น นักวิจัยอาจตัดสินใจว่าจะสัมภาษณ์นักเรียนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง เพื่อศึกษาว่าหลักสูตรการแก้ปัญหาที่ได้นำไปใช้ในหลายชั้นเรียนแล้วนั้นเป็นอย่างไรบ้าง โดยการสำรวจหรือสังเกตติดตามผลที่เกิดขึ้น นักวิจัยจะแน่ใจได้อย่างไรว่า การให้นักเรียนตอบโดยไม่ลงชื่อสามารถปกป้องความเป็นส่วนบุคคลของนักเรียนได้ ท่านจะป้องกันความลับของนักเรียนไม่ให้รั่วไหลได้อย่างไร และการเสนอผลไม่ควรปรากฏชื่อจริงของนักเรียน แต่แทนด้วยเลขรหัส Flinder (1992 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) ให้ความสำคัญของการเก็บความลับด้วยเหตุผลดังนี้

            - การเก็บความลับเฉพาะ มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ศึกษาให้พ้นจากความเครียด ความอาย หรือไม่มีความต้องการให้นำเสนอเรื่องของตนสู่สายตาของสาธารณชน

            - การเก็บความลับเฉพาะนั้น ปกป้องผู้มีส่วนร่วมในสถานการณ์ที่ซึ่งข้อมูลเปิดเผยต่อผู้วิจัย สามารถใช้โต้แย้งหรือคัดค้านโดยผู้อื่นได้

            - บางครั้งนักวิจัยทำวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นทีม ต้องร่วมรับรู้ถึงรายละเอียดในชั้นเรียนของเพื่อนร่วมงานด้วย และแลกเปลี่ยนผลข้อค้นพบซึ่งกันและกัน ต้อปกป้องความเครียด ความละอาย และความไม่ต้องการนำเสนอสู่สาธารณชน และที่แน่นอนที่สุดคือ นักวิจัยทำทุกอย่างเพื่อปรับปรุงประสบการณ์การเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนเป็นสำคัญ

            หลักการทางสังคม

            การทำวิจัยเชิงปฏิบัติการของนักวิจัยควรเผื่อแผ่สู่สังคมในวงที่กว้างขึ้น ในฐานะครูและเป็นสมาชิกของชุมชน เช่น กระบวนการประชาธิปไตย ความยุติธรรมทางสังคม ความเสมอภาค เป็นต้น เป็นหลักการที่นำทางให้กับพฤติกรรมจรรยาบรรณในสถานการณ์ที่กำหนดได้

            ปราศจากความหลอกลวง

            ในวิจัยเชิงปฏิบัติการต้องไม่มีช่องให้เกิดการหลอกลวงได้ (งานวิจัยอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกัน) เช่น ระหว่างสัมภาษณ์ ไม่ว่าผู้ร่วมงาน ผู้ปกครอง หรือนักเรียน ขอให้เนื้อหาบางส่วนเก็บไว้นอกการบันทึก นักวิจัยก็ควรเก็บเนื้อหาที่สนทนาอยู่นอกบันทึก แม้ว่าเนื้อหาสัมภาษณ์จะมีความหมายหรือดีเพียงใดก็ตาม ท่านต้องให้เกียรติผู้ให้สัมภาษณ์ที่ขอร้องให้ท่านเก็บเป็นความลับทำนองเดียวกัน ไม่ควรซ่อนไมโครโฟนเพื่อบันทึกเสียงการสัมภาษณ์ ถ้าท่านต้องการบันทึก เสียงการสนทนา ก็ควรได้รับอนุญาตทางวาจาหรือลายลักษณ์อักษรก่อน

            ความถูกต้อง

            การทำให้แน่ใจว่าข้อมูลถูกต้องเป็นหัวใจสำคัญของวิจัยเชิงปฏิบัติการ การแต่งข้อมูลเพื่อให้เป็นไปตามความเชื่อส่วนบุคคลของครูผู้วิจัยเป็นเรื่องที่ไม่มีจรรยาบรรณ และไม่เป็นวิทยาศาสตร์ด้วย ตัวอย่างเช่น งานวิจัยของครูคนหนึ่งต้องการเน้นประสิทธิผลของโครงการอ่านที่เพิ่งนำมาใช้ แม้โดยส่วนตัวนักวิจัยชอบโครงการดังกล่าว แต่ข้อมูลบ่งบอกว่าผลของโครงการไม่มีประสิทธิผลในการปรับปรุงคะแนนสอบ นักวิจัยต้องสามารถยอมรับข้อค้นพบของการวิจัยโดยปราศจากความลำเอียงต่อโครงการอ่าน การกระทำใด ๆ ที่จัดทำขึ้น และการปรับแต่งข้อมูลให้สนับสนุนความต้องการส่วนบุคคลถือว่าไม่มีจรรยาบรรณ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง

            จรรยาบรรณในการวิจัยเชิงคุณภาพตามกรอบของ Flinders สรุปได้ดังนี้

            ด้านประโยชน์การนำไปใช้  ต้องไม่เกิดผลเสียหรืออันตรายแก่กลุ่มผู้ร่วมในการวิจัยแสดงผลว่ามีศักยภาพของการปรับปรุงประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญ

            ด้านหน้าที่และข้อผูกมัดกับงาน  มีความซื่อสัตย์ และยุติธรรม ไม่ใช่หลอกลวงผู้มีส่วนร่วมให้เข้าร่วมในกระบวนการ แล้วใช้เป็นเพียงทางผ่านให้เสร็จสิ้นงานวิจัยเท่านั้น

            ด้านความสัมพันธ์  การร่วมมือของทีมในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ เป็นสิ่งสำคัญมากที่ทีมมีข้อตกลงร่วมกันว่า ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งหมายถึงการทำงานร่วมกัน การพูดคุย การถกเถียงด้วยกันเพื่อช่วยให้ทุกคนหรือทั้งกลุ่มบรรลุตามเป้าหมาย

            ด้านนิเวศ  นักวิจัยต้องใส่ใจกับความสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยกับผู้มีส่วนร่วม ความสัมพันธ์ หมายถึง บทบาท สถานภาพ และวัฒนธรรม (Flinder, 1992 อ้างใน กิตติพร  ปัญญาภิญโญผล, 2549) นักวิจัยใส่ใจต่อกระบวนการวิจัย ให้สารสนเทศ แบ่งปันและแลกเปลี่ยนประโยชน์กัน และร่วมมือกันและไวต่อการจับความรู้สึกของผู้มีส่วนร่วมที่มีต่อกระบวนการเหล่านี้ในวงจรของนักวิจัยเชิงปฏิบัติการ ทัศนะด้านนี้เกี่ยวกับคุณลักษณะของการสนองตอบทางสังคม ด้านประชาธิปไตย ความเสมอภาค ความเป็นอิสระและการเพิ่มพูนคุณภาพชีวิต



รูปแบบของการวิจัยเชิงฏิบัติการ

1. รูปแบบการวิจัยฏิบัติการแบบเป็น ทางการ และแบบไม่เป็นทางการ (Formal and InformalResearch)

1.1    การวิจัยแบบเป็นทางการ (Formal Research)

เป็นการวิจัยที่มีแบบแผนอย่างเคร่งครัด มีลักษณะการดำเนินงานและการนำเสนอเหมือนการวิจัยเชิงวิชาการ (academic research) ของนักวิจัยมืออาชีพ นักวิชาการในมหาวิทยาลัย หรือ นักศึกษาที่ทำเป็นวิทยานิพนธ์ มีการออกแบบการวิจัยที่รัดกุมเพื่อตอบคำถามวิจัยได้ชัดเจน และมีรูปแบบการนำเสนอรายงานผลการวิจัยที่กำหนดอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่จำแนกเนื้อหาสาระออกเป็น 5 บท

1.2   การวิจัยแบบไม่เป็นทางการ (Formal Research)

เป็นงานวิจัยไม่ยึดแบบการวิจัยอย่างเคร่งครัดเหมือนการวิจัยเชิงวิชาการ มุ่งเน้นการตอบคำถามวิจัยมากกว่าการยึดรูปแบบการวิจัยเป็นทางการ ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยก็พยายามใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วจากการเรียนการสอนปกติ การนำเสนอผลการวิจัยครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญที่ผู้วิจัยต้องการนำเสนองานวิจัยแบบนี้ บางครั้งพบว่ามีงานวิจัยเพียง 1-2 หน้า

2. รูปแบบการวิจัยปฏิบัติการตามแนวคิดของ Kemmis และ Zuber-Skerritt

        2.1  การวิจัยปฏิบัติการเชิงเทคนิค

การวิจัยตามรูปแบบนี้มีเป้าหมายของการวิจัยเพื่อปรับปรุงประสิทธิผลและประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน โดยอาศัยบุคลภายนอก (outsider) มาช่วยในการทำวิจัยในหน่วยงาน ผู้ปฏิบัติ(ครู) จะอยู่ภายในการควบคุมกำกับของนักวิจัยภายนอก บุคคลภายนอกเล่นบทของผู้วิจัยหลักการที่ครูไม่ค่อยมีบทบาทในการนำเสนอความคิด วิธีการต่างๆ ที่ใช้ในการวิจัยมาจากความคิดของนักวิจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเน้นเทคนิคการทำวิจัยที่ตอบคำถามวิจัยที่รัดกุม ข้อค้นพบที่ได้อาจใช้ไม่ได้กับการปฏิบัติจริง



  2.2. การวิจัยปฏิบัติการเชิงปฏิบัติจริง (Practical Action Research)

เป็นการวิจัยที่นักวิจัยภายนอกแสดงบทบาทของที่ปรึกษาด้านกระบวนการทำงาน (process consultancy role) มีเป้าหมายของการวิจัยที่มีมากกว่าแบบแรก คือ นอกจากช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพผลการทำงานแล้ว ยังมุ่งสร้างความเข้าใจและมุ่งพัฒนาวิชาชีพให้กับผู้ปฏิบัติด้วย ในกระบวนการวิจัยจะส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติสะท้อนผลและวิเคราะห์พัฒนาปรับปรุงการทำงานของตนเอง ดังนั้น ครูซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติในโรงเรียนมีโอกาสที่จะเรียนรู้กระบวนการวิจัยและมีส่วนในการเสนอความคิดในประเด็นปัญหาวิจัยที่มาจากปฏิบัติจริง และสามารถนำผลการวิจัยใช้ไปได้

 2.3. การวิจัยปฏิบัติการเชิงวิพากษ์/อิสระ (Critical/Emancipatory Action Research)

เป็นการวิจัยที่มีการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยภายนอกและผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงาน เป้าหมายของการวิจัยเพิ่มเติมจากการวิจัยปฏิบัติการแบบที่ 1 และ 2 คือนอกจากพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน การส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจในการพัฒนาปรับปรุงการทำงานแก่ผู้ปฏิบัติแล้ว ยังต้องการให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงในระบบการทำงานที่เป็นอยู่ในองค์กรให้ดีขึ้นกว่าเดิม แม้จะมีบุคคลภานอกร่วมด้วย แต่ทุกคนต่างมีสิทธิมีเสียงในการแสดงความคิดเห็นเท่าเทียมกัน จะไม่มีผู้แสดงบทบาทเป็นที่ปรึกษาวิจัยเหมือนแบบที่สอง การวิจัยแบบนี้เปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาความสามารถด้านการวิจัยแก่ผู้ปฏิบัติ และ นักวิจัยอิสระจากความรู้ กฎเกณฑ์ และพันธนาการทางความเดิม

จะเห็นว่าแนวทางการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการทั้ง 3 แบบ มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของการทำงานจากผู้ปฏิบัติถูกครอบ ความคิดโดยนักวิจัยภายนอก (cooption) ซึ่งเป็นแบบแรก มาเป็นการทำงานร่วมกัน (cooperation) ในแบบที่สอง และรูปแบบการทำงานที่สามซึ่งเป็นการทำงานแบบร่วมมือ (collaboretion)ซึ่งเป็นแนวทางการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่กำลังเป็นที่นิยมและยอมรับกันว่าจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพของผู้ปฏิบัติมากกว่าแบบอื่นๆ

   3. รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการตามแนวคิดของ Callhoun

3.1. การวิจัยของครูแบบทำคนเดียว

เป็นการวิจัยที่เน้นการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่ง โดยครูกำหนดปัญหาในห้องเรียนที่ต้องการแก้ไข และ หาแนวทางแก้ไข นักเรียนอาจไม่มีส่วนในการช่วยกำหนดทางเลือกต่างๆ หากจะมี ผู้ปกครองเกี่ยวข้องด้วยในการทำวิจัย ก็จะเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลมากกว่า





3.2. การวิจัยปฏิบัติการแบบร่วมมือ (Collaborative Acton Research)

เป็นการทำวิจัยกลุ่ม ผู้วิจัยมีจำนวน 1-2 คนขึ้นไป ประกอบด้วย ครูผู้บริหาร และ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย หรือ บุคลากรอื่นๆมีจุดมุ่งหมายเน้นที่ปัญหาและการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในห้องเรียนได้ห้องเรียนหนึ่ง คณะวิจัยอาจจะเน้นปัญหาในระดับพื้นที่ของตน แต่ยังเป็นกระบวนการที่เป็นการสืบค้นความรู้ในห้องเรียน กระบวนการทำวิจัยจะเหมือนกับการทำวิจัยของครูที่ทำคนเดียว

3.3. การวิจัยปฏิบัติการแบบทำทั่วทั้งโรงเรียน (Schoolwide Action Research)

เป็นการวิจัยที่คณะทำงานเป็นผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน มีการทำงานโดยเลือกปัญหาวิจัยที่สนใจร่วมกันมีการรวบรวมข้อมูล การจัดระบบ และการแปลความหมายข้อมูลที่ได้จากโรงเรียน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง กระบวนการวิจัยเป็นแบบวงจรต่อเนื่องที่มีหน้าที่เหมือนกับการประเมินความก้าวหน้า มีจุดหมายเน้นที่การปรับปรุงโรงเรียน ได้แก่ (1) การค้นหาวิธีการปรับปรุงโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหา (2) พยายามปรับปรุงการทำงานเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันแก่เรียน (3) เพิ่มขอบข่ายของสาระในการสืบค้นแนวทางการแก้ปัญหา



4. รูปแบบการวิจัยปฏิบัติการจากการสังเคราะห์ของ นงลักษณ์  วิรัชชัย (2543)

4.1. การวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research)

                        เป็นการวิจัยที่ทำโดยครูเพื่อแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการปฏิบัติงานหรือการเรียนการสอนในชั้นเรียนของตน

4.2. การวิจัยปฏิบัติการแบบรวมพลัง (Collaborative Action Research)

เป็นงานวิจัยที่ดำเนินการโดยครูหลายคนร่วมกันทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาในชั้นเรียนหลายๆชั้นหรือแผนกวิชาหรือภาควิชาคณะนักวิจัยเกิดจากการรวมตัวกันของครูที่มีความชำนาญเฉพาะต่างกันมาร่วมมือกันทำวิจัยโดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน

4.3. การวิจัยปฏิบัติการระดับโรงเรียน (Schoolwide Action Research)

      เป็นการวิจัยที่ดำเนินงานโดยผู้บริหารโรงเรียนและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน อาจรวมหน่วยงานนอกโรงเรียนด้วย มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาโรงเรียนและสภาพแวดล้อมในโรงเรียน

4.4. การวิจัยปฏิบัติการอิงชุมชน (Community-based Action Research)

                        เป็นการวิจัยที่อาศัยความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชนโดยอาศัยพลังของชุมชนที่จะระดมทรัพยากรจากทุกแหล่งมาพัฒนาชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ



รูปแบบของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

ความเข้มของแบบแผนการวิจัย
ระดับของความร่วมมือและระดับของ
ปัญหาวิจัย
บทบาทของบุคคลภายนอกที่มี
ส่วนร่วมในการวิจัย
1. แบบเป็นทางการ
1.  แบบทำคนเดียว (เฉพาะปัญหาในห้องเรียนของตนเอง)
1. เชิงเทคนิค (บุคคลภายนอกมีบทบาทมากกว่า)
2. แบบไม่เป็นทางการ
2. แบบร่วมมือ (ทำเป็นทีม รวมกลุ่มคนที่สนใจร่วมกันในปัญหาเดียวกัน)
2. เชิงปฏิบัติจริง (บุคคลภายนอกมีบทบาทมากกว่าแต่ยังน้อยกว่าแบบแรก)
3. แบบทำทั่วทั้งโรงเรียน (ทำร่วมกันทั่วทั้งโรงเรียนเป็นปัญหาระดับโรงเรียน)
3. แบบอิสระ (บุคคลภายนอกมีบทบาทเท่าเทียมกับผู้ปฏิบัติ)
4. แบบอิงชุมชน (ทำร่วมกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชน)
4. แบบไม่มีบุคคลภายนอก



Action Research Process     กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ

เนื่องจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการมีข้อตกลงเบื้องต้น (Basic assumption) ว่าเป็นการใช้กระบวนการการทางวิทยาศาสตร์สืบค้นปัญหา และวิธีแก้ปัญหา (ที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงานของหน่วยงาน/โรงเรียน) ดังนั้น จะต้องมีการจัดกระบวนการสืบค้นหาความรู้นี้อย่างมีเหตุผล การวิจัยจึงเน้นกระบวนการคิดและลำดับขั้นตอนของการเรียนรู้ที่ได้จากการคิดและการกระทำ ซึ่งเป็นลักษณะของการใช้ลำดับขั้นตอนของจิตวิทยาการเรียนรู้ มากกว่าการใช้ลำดับความคิดเชิงจิตวิทยาฯ เพื่อบอกความเป็นเหตุเป็นผลต่อกัน



John Elliott

Elliott ได้ปรับปรุง model ของ action research process จาก model ที่ Kemmis เสนอขึ้นเพื่อใช้แทนคำอธิบายกระบวนการ action research ของ Lewin โดย Elliott นั้นเสนอว่า ปัญหาหรือหัวข้อในการทำ action research ควรที่จะมีการปรับเปลี่ยนได้ (ไม่ควรกำหนดตายตัว) การค้นหาข้อเท็จจริง (fact-finding) และการวิเคราะห์สถานการณ์ ควรปฏิบัติอย่างซ้ำๆ (recur) ตลอดกระบวนการทำ action research ไม่ใช่เกิดขึ้นแค่เฉพาะตอนเริ่มต้น และควรมีการติดตามหรือเฝ้าสังเกตการปฏิบัติงานก่อนที่จะมีการประเมินผลของการปฏิบัติงานนั้น model ของ action research ที่ถูกเสนอโดย Elliott แสดงดังภาพ






Model of Action Research Process Proposed by Elliott





The Alberta Teachers' Association

สมาคมครูแห่ง Alberta (Canada) ได้เสนอ model ของ action research process โดยอิงมาจาก action research cycle อย่างไรก็ตามสำหรับสมาคมครูแห่ง Alberta ให้ความสำคัญกับ reflection มากที่สุด ในบรรดาทั้งหมด 4 กระบวนการ โดย reflection จะเกิดตลอด cycle ไม่ใช่ทำแค่ตอนหลัง observing ผู้วิจัยจึงสามารถเข้าใจปัญหาและสถานการณ์ที่กำลังทำวิจัย และอาจนำมาสู่การปรับปรุงหัวข้อวิจัยและวางแผนปฏิบัติงานให้เหมาะสมขึ้น

Alberta Action Research Model

McNiff, Lomax, and Whitehead

McNiff และคณะ มีความเห็นสอดคล้องกับ Elliott ในกรณีที่ว่า หัวข้อหรือประเด็นการทำ action research ควรที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ ไม่ควรยึดติดกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งมากเกินไป โดยหัวข้อการทำ action research ควรมาจากความไม่ลงรอยกันระหว่างการปฏิบัติงานที่ผู้วิจัยคิดหรือเชื่อ (value) ว่าดีแต่ยังไม่สามารถทำแบบนั้นได้ กับสิ่งที่ผู้วิจัยกำลังปฏิบัติงานจริง (actual practice) โดยผู้วิจัยทำ action research เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้ได้อย่างที่ตัวเองคิดหรือเชื่อว่าดี McNiff และคณะ เรียกความขัดแย้งนี้ว่า "Living Contradiction"
นอกจากนี้ McNiff และคณะยังเห็นว่า (อันนี้ค่อนข้างแตกต่างจาก Elliott) กระบวนการทำ action research ไม่ควรเป็นขั้นตอนที่แน่นอนตายตัว แต่ควรเป็นกระบวนการที่ยืดหยุ่นที่สามารถวิวัฒนาการได้ (evolutionary process) ดังนั้น McNiff และคณะจึงได้เสนอ model ของ action research process ดังภาพด้านล่าง

A Generative Tranformational Evolutionary Process of Action Research 

McNiff และคณะ ยังได้เสนอขั้นตอนการทำ action research แบบกว้างๆ โดยเน้นตัวผู้วิจัยเป็นศูนย์กลายของการทำ action research ซึ่งมีกระบวนการดังนี้

1.      Committing to educational improvement

2.      Identifying a special kind of research question

3.      Putting the 'I' at the center of the research

1.     How do 'I' fit into the research?

2.     How do 'I' fit into the action?

3.     How do 'I' influence wider social contexts?

4.      Doing action that is informed, committed and intentional

5.      Systematic monitoring to generate valid data

6.      Authentic descriping the action

7.      Explaning the action

1.     Identifying possible meanings, linking with other work and constructing models

2.     Making the description problematic

3.     Theorizing

8.      Seek ways to represent research

9.      Validating action research claims

10.   Making the action research public



Geoffrey E. Mills

ได้เสนอ model ของ action research process ที่เรียกว่า "Dialectic Action Research Spiral" ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนด้วยกัน คือ การกำหนดประเด็นหรือจุดเน้นของการทำวิจัย (identifying an area of focus) การรวบรวมข้อมูล (data collecting) การวิเคราะห์และการแปรความข้อมูล (data analysis and interpretation) และการวางแผนการปฏิบัติงาน (action planning) โดยกระบวนการทำ action research จะเป็นไปตาม model ดังภาพ



The Dialectic Action Research Spiral

 Richard Sagor

ได้อธิบาย action research process ว่ามีขั้นตอน 4  ขั้นตอนด้วยกันคือ การกำหนดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของการทำวิจัย การศึกษาทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางปฏิบัติ การลงปฏิบัติและการรวบรวมข้อมูล และ การสะท้อนและการวางแผนการปฏิบัติงานที่รอบรู้มากขึ้น Sagor อธิบายไว้ดังนี้

1.      Clarifying vision and targets (What do I want to accomplish?)

2.      Articulating theory (What do I believe is the approach with the greatest potential for achieving my goal(s)?)

3.      Implementing action and collecting data (What data will I need to collect to understand the efficacy and workings of my theory of action?)

4.      Reflecting on the data and planning informed action (based on this data, how should I adjust my future actions (teaching)?).

Sagor เสนอ model ดังภาพ 


A Model of Action Research Cycle Proposed by Sagor 

Altrichter, Posch, and Somekh

Altrichter และคณะ ได้อธิบายกระบวนการทำ action research  4 ขั้นตอนด้วยกันคือ การหาจุดเริ่มต้น (starting point) การทำความเข้าใจสถานการณ์ การพัฒนาแผนการปฏิบัติงานและการลงมือกระทำตามแผนการ และ การวิเคราะห์และการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ดังภาพครับ



Action Research Process Proposed by Altrichter et al.

Action Research Process (Altrechter)



กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ สรุปขั้นตอนที่สำคัญๆ ในการดำเนินการดังนี้

1. การจำแนกหรือพิจารณาปัญหาที่ประสงค์จะศึกษา ผู้วิจัย และกลุ่มที่ทำการวิจัยจะต้อง

ศึกษารายละเอียดของปัญหาที่จะศึกษาอย่างชัดแจ้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนซึ่งจะทำการวิจัยเชิง

ปฏิบัติการจะต้องมีทฤษฎีรองรับในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น การวิเคราะห์สภาพของปัญหา

(Thematic concern) ควรพิจารณาให้ครบ 4 องค์ประกอบต่อไปนี้ คือ ปัญหาที่เกี่ยวกับครู นักเรียน เนื้อหาวิชาและสภาพแวดล้อม

2. เลือกปัญหาสำคัญที่เป็นสาระควรแก้การศึกษาวิจัย เลือกโดยอาศัยทฤษฎีมาร่วมพิจารณา

ลักษณะของปัญหา แล้วสร้างสมมติฐาน (Hypothesis) ของการวิจัยในรูปแบบของข้อความต้องการที่จะประเมินที่แสดงความสัมพันธ์ของปัญหากับหลักการ หรือกับทฤษฎีพื้นฐานที่เกี่ยวข้อกับปัญหานั้น

3. เลือกเครื่องมือดำเนินการวิจัยที่จะช่วยให้ได้คำตอบของปัญหาตามสมมติฐานที่ตั้งไว้เครื่อง

มือที่ใช้จะมี 2 ลักษณะคือ เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติ หรือฝึกหัดตามวิธีการ เช่น อุปกรณ์การเรียนการสอน แบบฝึกหัด เป็นต้น และเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติ เช่น แบบทดสอบ แบบสังเกตพฤติกรรม เป็นต้น

4. บันทึกเหตุการณ์อย่างละเอียดในแต่ละขั้นตอนของการวิจัย ทั้งส่วนที่เป็นความก้าวหน้าและ

เป็นอุปสรรคตามวงจรของการปฏิบัติการ คือ ในขั้นตอนของ วางแผนงาน การปฏิบัติการ การสังเกตและการสะท้อนการปฏิบัติการ เก็บสะสมข้อบันทึกไว้เพื่อใช้ในการปรับปรุงวงจรปฏิบัติการต่อไป และเพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลวิเคราะห์หาคำตอบของสมมติฐาน

5. วิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้านต่างๆของข้อมูลที่รวบรวมไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับข้อมูล

เชิงคุณภาพ ได้แก่ การตรวจสอบรายละเอียดของข้อมูลเพื่อให้แน่ใจความถูกต้อง แสดงรายละเอียด

อธิบายสถานการณ์ จัดหมวดหมู่และแยกประเภทของกลุ่มข้อมูลตามหัวข้อที่เหมาะสมเปรียบเทียบข้อแตกต่าง และคล้ายคลึงของข้อมูล แต่ละประเภทโดยวิเคราะห์วิจารณ์อย่างลึกซึ้งกับกลุ่มผู้วิจัย

6. ตรวจสอบข้อมูลที่กลุ่มผู้วิจัยได้พิจารณาไว้แล้วอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสรุปหาคำตอบที่เป็นสาเหตุ

ผลและวิธีแกปัญหานั้นตามวัตถุประสงค์ กำหนดไว้และจะก่อประโยชน์สูงสุดโดยสรุปประมวลเป็นหลักการ (principle) รูปแบบ (model) ของการปฏิบัติ หรือข้อเสนอเชิงทฤษฎี (propostion) หรือทฤษฎี(theory) ทั้งนี้ ต้องอาศัยหลักตรรกวิทยาโดยวิธีอุปนัย (inductive) และความรู้เชิงทฤษฎีของผู้วิจัย



ลักษณะทั่วไปของการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน



การวิจัยเชิงปฏิปัติการในชั้นเรียน/ห้องหรือโรงเรียนมีลักษณะโดยทั่วไปดังนี้

            1. เกี่ยวข้องกับปัญหาต่างๆทางด้านกรปฏิบัติงาน (practical problems) ที่ครูมักประสบในขณะทำการสอนหรือปฏิบัติหน้าที่อื่นๆในแต่ละวันมากกว่าการเกี่ยวข้องกับปัญหาทางทฤษฎี (theotical Problems) ซึ่งได้รับการนิยมหรือกล่าวถึงโดยนักวิจัยบริสุทธ์ (pure researchers) ในสาขาวิชาวิชาความรู้ใดๆโดยเฉพาะ



            2. มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อการทำความเข้าใจ (Understanding) ต่อสภาพปัญหาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของครูอย่างลุ่มลึกและกระจ่างชัด ภายใต้กระบวนการสะท้อนกลับผลของยุทธวิธีปฏิบัติที่นักวิจัยปฏิบัติการได้กระทำลงไปอย่างใคร่ครวญในเชิงวิพากษ์ (critically self-reflective processes) อันจะนำพาไปสู่แนวทางการได้วิธีการสำหรับการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทแวดล้อมนอกจากนั้นยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานรวมทั้งสภาพการณ์เงื่อนไขต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานมากกว่าการมีจุดมุ่งหมายเพื่อการสร้างองค์ความรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง

            3. เหตุการณ์ (events) หรือสถานการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นจะถูกตีความหมาย (interpretation) ตามความคิดเห็นหรือทัศนะของผู้ปฏิบัติหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ของปัญหาดังกล่าวโดยตรง มากกว่าการอาศัยกฎหรือหลักการของวิทยาศาสตร์ บริสุทธ์ (laws or principle of natural science) ทั้งนี้เพราะมีความเชื่อว่าท่าทาง  การกระทำ  การติดต่อสื่อสาร หรือพฤติกรรมอื่นๆของ มนุษย์ ทั้งที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดและไม่เห็นเด่นชัดในเหตุการณ์หรือสถานการณ์ของปัญหาหนึ่งๆสามารถอธิบายหรือตีความหมายได้โดยการสรุปอ้างอิง (inference) แรงจูงใจ (motivation) ความเชื่อ (beliefs) เจตนา (intention) หรือ จุดมุ่งหมาย (purpose) ของผู้แสดงพฤติกรรมรวมทั้งบริบท (contexts) แวดล้อมที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมหรือการกระทำเหล่านั้นขึ้น เช่นบรรทัดฐาน (norms) ค่านิยม (values) และ กฎเกณฑ์ต่างๆ ทางสังคมหนึ่งๆเป็นสำคัญ

            4. ผลของการวิจัยจะถูกรายงานด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำภาษาในระดับเดียวกับผู้ปฏิบัติ  โดยพยายามหลีกเลี่ยงคำศัพท์เฉพาะวิชาสาขา (technical terms) และภาษาที่มีลักษณะค่อนข้างเป็นนามธรรม ดังนั้นจึงทำให้ง่ายต่อการเข้าใจของผู้ปฏิบัติ นอกจากนั้นคำอธิบายเกี่ยวกับผลของการวิจัยรวมทั้งกระบวนการวิจัยอื่นสามารถตรวจสอบความเที่ยงตรงได้จากการสนทนาแบบเป็นกันเอง (unconstrained dialogue) กับผู้ปฏิบัติการและผู้มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องในทุกระยะหรือขั้นตอนของกระบวนการวิจัย

            5. การดำเนินการวิจัยในทุกขั้นตอนจะต้องอยู่ภายใต้บรรยากาศของการมีส่วนร่วม การร่วมมือร่วมใจ การเชื่อถือและไว้วางใจ การเป็นมิตร และการเป็นอิสระและเสมอภาคทางความคิด เช่น ในขันตอนของการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งผู้วิจัยและผู้เข้าร่วมในการวิจัยและต้องมีอิสระในการเข้าถึงหรือได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงที่ เกี่ยวข้องกับปัญหาซึ่งกันและกัน แน่นอนที่สุดว่ากิจกรรมต่างๆ ในขั้นตอนนี้จะต้องกระทำภายใต้บรรยากาศของความไว้วางใจ และความเชื่อถือระหว่างผู้วิจัยและผู้เข้าร่วมในงานวิจัย การให้สัญญาของผู้วิจัยต่อผู้เข้าร่วมการวิจัยว่าเก็บรักษาข้อมูลการวิจัยที่ได้รับไว้เป็นความลับเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่สร้างไว้วางใจ เป็นต้น

6. วิธีการศึกษาค้นคว้า (methodology) ไม่ยึดติดอยู่ภายใต้กรอบ (framework) ของกานวิจัยเชิงทอลองและการควบคุมตัวแปรอย่างเคร่งครัดด้วยแบบแผ่นของการวิจัยเชิงทดลอง (experimental research designs) หรือวิธีการทางสถิติใดๆ (statistical control เช่น ANCONA) เหมือนกับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์บริสุทธ์อื่นๆ (pure basic research) ที่เน้นการหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาเชิงทฤษฎีในสาขาวิชาใดๆ โดยเฉพาะเท่านั้นอย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าการวิจัยเชิงปฏิบัติการละเลย หรือ มองข้าม  ความสำคัญของค้นคว้าด้วยการอาศัยวิธีการทางวิทยาศาตร์ (scientific method) หากแต่มีวิธีการปรับวิธีการศึกษาค้นคว้าด้วยวิธีการดังกล่าวให้กลมกลืน หรือ สอดคล้องกับปัญหา สภาพการณ์ต่างๆ รวมทั้งบริบทของสังคมที่แวดล้อมไปด้วยเหตุนี้การวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยทั่วไปอาจเลือกใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative research) ที่อาศัยแบบแผนการวิจัยกึ่งทดลอง (quasi-experimental design) หรือการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) เช่น การศึกษาเฉพาะกรณี (case study) และการศึกษาเชิงชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) เป็นต้น

            7. การสรุปอ้างอิงผลการวิจัยหรือการขยายผลการวิจัยให้ครอบคลุมข้ามไปยังห้องเรียนหรือ โรงเรียนที่มีทำเลที่ตั้งหรือบริบทอื่นๆ แตกต่างไปจากทำเลหรือบริบทที่ทำการวิจัยจริง (generalizations) การวิจัยเชิงปฏิบัติการมีลักษณะค่อนข้างจำกัดกว่าการวิจัยเชิงการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพราะการสรุปอ้างอิงผลของการวิจัยที่ได้รับจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการไม่สามารถอาศัย กฎของการครอบคลุม (covering law) ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์หรือการอ้างอิงเชิงสาเหตุ (causal relationships or inferences) ดังนั้นในทางปฎิบัติโดยทั่วไปการสรุปอ้างอิงผลของการวิจัยเชิงปฏิบัติการจึงมีแนวโน้มกระทำได้เฉพาะในของเขตของสถานที่ บุคคล และเวลาที่ทำการวิจัยหนึ่งๆเอย่างไรก็ตามถ้าต้องการขยายผลของการวิจัยเชิงปฏิบัติการก็สามารถกระทำได้ถ้าปัจจัยที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นมีลีกษณะใกล้เคียงหรือได้รับการยืนยันจากผลของการศึกษาวิจัยอื่นๆ ประกอบ          

            ลักษณะเด่น 7 ประการข้างต้นเป็นลักษณะของการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน/ห้องเรียน หรือ โรงเรียนซึ่งแตกต่างจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือทางสังคมศาสตร์เชิงประยุกต์แบบอื่นๆ



ความสำคัญและความจำเป็นของการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน

สุวิมล  ว่องวานิช(2547:24)ได้กล่าวว่าความสำคัญของการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน คือ

            1. ให้โอกาสครูในการสร้างองค์ความรู้ ทักษะการทำวิจัย การประยุกต์ใช้การตระหนักถึงทางเลือกที่เป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงโรงเรียนให้ดีขึ้น

            2. เป็นการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงหรือสะท้อนผลการทำงาน

            3. เป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติ โดยตรง เนื่องจากช่วยพัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ

            4. ช่วยทำให้เกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่องและเกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านกระบวนการวิจัยในทีทำงานซึ่ง

                  เป็นประโยชน์ต่อองค์กร เนื่องจากนำไปสู่การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงการปฏิบัติ และการแก้ปัญหา

            5. เป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติในการวิจัยให้กระบวนการวิจัยมีความเป็นประชาธิปไตย ทำให้เกิดยอมรับในความรู้ของผู้ปฏิบัติ

            6. ช่วยตรวจสอบวิธีการทำงานของครูที่มีประสิทธิผล

            7. ทำให้ครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง



ลักษณะสำคัญของการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน

สุวิมล  ว่องวานิช(2547:24)ได้กล่าวว่าความสำคัญของการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน ดังนี้



การวิจัยเชิงฏิบัติการในชั้นเรียน  คือ  การวิจัยที่มีลักษณะดังนี้
ใคร
ครูผู้สอนในห้องเรียน
ทำอะไร
ทำการแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหา
ที่ใหน
ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน
เมื่อไหร
ในขณะที่การเรียนการสอนกำลังเกิดขึ้น

อย่างไร
ด้วยวิธีการวิจัยที่มีวงจรการทำงานต่อเนื่องและสะท้อนกลับการทำงานของตนเอง(self-refection) โดยขั้นตอนหลักคือ การทำงานตามวงจร PAOR (plan,Act,Observe,Reflect & Revise)
เพื่อจุดมุ่งหมายใด
มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน

ลักษณะเด่นของการวิจัย
เป็นกระบวนการวิจัยที่ทำอย่างรวดเร็ว โดยครูผู้สอนนำวิธีการแก้ปัญหาที่ตนเองคิดขึ้นไปทดลองใช้กับผู้เรียนทันทีและสังเกตผล การแก้ปัญหานั้น มีการสะท้อนผลและเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนครูในโรงเรียน เป็นการวิจัย แบบร่วมมือ (collaborative research)













การประยุกต์ใช้วงจรของวิจัยเชิงปฏิบัติการ

            หากพิจารณาบทบาทของครูที่วางแผนการสอน แล้วจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตามด้วยการวัดและประเมินการเรียนการสอน กับบทบาทของนักวิจัยเชิงปฏิบัติการตามวงจร PAOR (Plan, Act, Observe และ Reflect) สามารถทำไปพร้อมๆกันได้ ดังแสดงในภาพต่อไปนี้

                        บทบาทของครู                            บทบาทของนักวิจัย


วางแผน(Plan)
 





                                                                       


จัดกิจกรรมการเรียนการสอน
 
ลงมือทำและรวบรวมข้อมูล(Act&Observe)
 





พัฒนา                                                                                                            ปรับแผน

ปรับปรุง

แก้ไข













ภาพแสดงบทบาทครูกับบทบาทนักวิจัยสามารถทำไปพร้อมกัน

 


การนำขั้นตอนของวงจร PAOR ไปประยุกต์ใช้ในการวิจัยในชั้นเรียน โดย กิตติพร ปัญญาภิญโญผล (2540, 2541) ได้เสนอรายงานวิจัย เรื่องรูปแบบของวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน กรณีศึกษาสำหรับครูประถมศึกษา และกรณีศึกษาสำหรับครูมัธยมศึกษา ในวิชาคณิตศาสตร์ และโดยความเป็นจริงในทางปฏิบัติ สามารถประยุกต์ใช้ในวิชาอื่นๆ (ดูได้จากวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา ได้ใช้รูปแบบดังกล่าวนี้กับวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคมศึกษา อาชีวศึกษา และวิทยาศาสตร์) รูปแบบดังแสดง ต่อไปนี้



















รูปแบบกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการสำหรับครูคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา/มัธยมศึกษา


ก.                   ขั้นวางแผน(Plan)
ก.1.           หาปัญหา หาสาเหตุ หาวิธีการแก้ไข วิธีการสอน
ก.2.           วางแผนการสร้างเครื่องมือการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
                 รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลสร้างเครื่องมือ
ก.3.           วางแผนการสอน (แผนรวม)

 







ปรับ






ข.1.         วางแผนการวัดผลความรู้พื้นฐาน (Plan)
ข.2.         วัดความรู้พื้นฐาน (Act and Observe)
ข.3.         ผลการวัดความรู้พื้นฐาน (Reflect)
ข.4.         วางแผนปรับพื้นฐาน (Plan)
ข.5.         ปรับพื้นฐาน (Act and Observe)
ข.6.         ผลการปรับพื้นฐาน (Reflect)
ข.7.         วางแผนการสอน รายคาบ (Plan)
ข.8.         การสอนเนื้อหาใหม่ (Act and Observe)
ข.9.         การวัดความรู้เนื้อหาใหม่ (Act and Observe)
ข.10.       ผลการวัด และการซ่อมเสริม (Reflect)
 

ข.                     ขั้นปฏิบัติและรวบรวมข้อมูล (Act and Observe)

 






ปรับ



















            


ทดสอบ
ปลายภาค
 

ข.11.       ทดสอบเมื่อจบบทเรียน
ข.12.       ผลกสนสังเกต การสัมภาษณ์ ผลสอบ
 

                                ยังไม่จบบทเรียน                

                                                                                               จบภาคเรียน                                                                                                                                                                                                                                                                                       









                        

     ยังไม่จบภาคเรียน





















จากรูปแบบกระบวนการวิจัยดังที่แสดงไว้ จะสังเกตว่ารูปแบบประกอบด้วยวงจรใหญ่โดยเริ่มด้วย ก. ขั้นวางแผน (Plan)  ข. ขั้นปฏิบัติและรวบรวมข้อมูล (Act and Observe) และ ค. ขั้นทบทวนและประเมินผลเพื่อปรับแผน (Reflect: Review & Evaluate Cycle) จากภาพจะเห็นว่าในขั้น ข. เป็นขั้นของการเรียนการสอนซึ่งประกอบด้วยวงจร PAOR 3 ชุด คือวงจรวัดความรู้พื้นฐาน วงจรปรับความรู้พื้นฐาน และวงจรสอนเนื้อหาใหม่ วงจรผ่านขั้นตอนต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่เนื้อหาข้อมูลเปลี่ยนไปตามบทเรียน ในขณะที่ปัญหาการเรียนรู้ และรวมถึงพฤติกรรมการเรียนการสอนก็ได้รับการปรับแก้ไปพร้อมๆกัน จนสิ้นภาคเรียนเพื่อประเมินตัดสินผลการเรียนปัญหาของกลุ่มยังต้องการแก้ไขในภาคต่อไป ในขณะที่ปัญหาร่วมที่ได้แก้ไขในกลุ่มเดิมจะพบในกลุ่มใหม่ที่ผู้สอนยังสอนวิชาเดิมต่อไป ซึ่งต้องแก้ปัญหาให้กับกลุ่มใหม่ต่อไป การใช้วงจรจะช่วยให้ทำงานอย่างมีระบบ สามารถได้ข้อมูลและใช้ขั้นตอนของวงจรเข้าตรวจสอบความเที่ยงตรงและความเชื่อได้ของข้อมูล ผู้สนใจในรูปแบบตามที่กล่าวก็สามารถศึกษารายละเอียดจากรายงานวิจัยตามที่ได้อ้างแล้ว

Mills (2003) ได้กล่าวสนับสนุนการให้ทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ เป้ฯส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการสอนประจำวัน ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่ 3 คือ การสอนในแต่ละบทเรียน ครูวางแผนการสอน ดำเนินการสอน และประเมินผลการสอนหรือผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งก็เหมือนๆ กับครูนักวิจัยวางแผนแก้ปัญหา หรือพัฒนาการสอนด้วยนวัตกรรมหรือกิจกรรม (จัดเข้าไปในแผนการสอน) และมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (การวางแผน) ดำเนินการสอนบทเรียนพร้อมกับการสังเกต และการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างการเรียนการสอน รวมถึงการพิจารณาผลจากการประเมินผลรวม (การปฏิบัติตามแผนและการรวบรวมข้อมูล) การสอนแต่ละบทเรียน เมื่อจบบทเรียนครูสะท้อนว่า นักเรียนได้รับจากการเรียนรู้เป็นอย่างไร บรรลุตามวัตถุประสงค์ตามแผนการสอนหรือไม่อย่างไร (การสะท้อนจากการวิเคราะห์ข้อมูลและแปลความหมาย) และใช้เวลาในการสอนแต่ละครั้งสะท้อนว่า วันนี้ผลการสอนเป็นอย่างไร มีอะไรที่ส่งผลถึงบทเรียนในครั้งต่อไป (ว่างแผนปฏิบัติการหรือปรับแผนในการสอนครั้งต่อไป) จะเห็นว่ากระบวนการเรียนการสอนกับกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ครูสมารถทำพร้อมๆกันได้ ไม่ว่าจะเป็นครูที่มีประสบการณ์หรือครูใหม่



การวางแผนการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน

            การวางแผนวิจัยเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ (1) การวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเพื่อตั้งข้อสงสัย (2) การตั้งคำถามวิจัยที่มีความเฉพาะเจาะจงมีความเป็นรูปธรรม และเป็นคำถามที่วิจัยได้ (3) การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา (4) การออกแบบการวิจัยสำหรับเป็นแนวทางในการศึกษาเพื่อให้ได้คำตอบก่อนที่จะนำแผนปฏิบัติการปฏิบัติจริง (5) การเตรียมแผนสู่การปฏิบัติ (ผ่องพรรณ : 2544)



1. การวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน

            สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียน  คือ  ปรากฎการณ์หรือสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในห้องเรียนหรือสิ่งที่เกิดกับผู้เรียนซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลให้การเรียนการสอนไม่บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด สิ่งที่สังเกตเห็นดังกล่าวจะนำไปสู่การกำหนดข้อสงสัยว่า มีอะไรเกิดขึ้น สิ่งนั้นนั้นก็ให้เกิดปัญหาอย่างไรทำไมจึงเป็นเช่นนั้นทำไมจึงไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นฉันสามารถทำอะไรได้บ้าง ข้อสงสัยที่กำหนดในลักษณะคำถามที่กว้างนี้ทำให้รูเกิดความสนใจที่จะค้นหาคำตอบ และ ทำ การศึกษาเพื่อให้ตนเองมีความเข้าใจในสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น

            การวิเคราะห์สภาพปัญหาในห้องเรียนจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่ครูแต่ละคนต้องทำการสำรวจหรือศึกษาว่ามีอะไรเกิดขึ้นในห้องเรียน สิ่งนั้นเป็นปัญหาหรือไม่ และหากสภาพที่เกิดขึ้นในห้องเรียนแสดงถึงปัญหาหลายประการที่ต้องการการแก้ไข ครูก็จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของปัญหาเหล่านั้น

              1.1. ประเด็นในการวิเคราะห์สภาพปัญหา

                     ครูนักวิจัยควรตั้งคำถามกับตนเองหลังจากสังเกตเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนที่ตนเองรับผิดชอบ

              1.2. การตัดข้อสงสัย

ครูต้องเป็นคนช่างสังเกต แล้วสะท้อนสิ่งที่สังเกตเห็น ตั้งเป็นข้อสงสัยโดยการถาม ตนเอง ดังตัวอย่างต่อไปนี้

   1. คุณมีข้อสงสัยอะไรบ้างเกี่ยวกับการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียนของคุณ

2. สิ่งที่ทำให้คุณสงสัยว่าเป็นปัญหาในชั้นเรียนของคุณเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระหรือการจัดการเรียนการสอน

3. ลักษณะอะไรบ้างในการเรียนรู้ของของนักเรียนที่คุณอยากทำความเข้าใจให้

  ดีขึ้น

   4. ลักษณะของการสอนอะไรบ้างที่เป็นปัญหาของคุณ และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

   5. คุณรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการสอนของคุณ และเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียนซึ่งคุณต้องการตรวจสอบ

            2. การตั้งคำถามวิจัย

คำถามวิจัย เป็นการกำหนดประเด็นข้อสงสัยที่ต้องการค้นหาคำตอบโดยมักเขียน

อยู่ในรูปประโยคที่เป็นคำถาม ที่มีความเฉพาะเจาะจง สามารถสังเกตสำรวจและศึกษาวิจัย ได้

   2.1. เกณฑ์การกำหนดคำถามวิจัย

1. การตั้งคำถามที่ดี ไม่ควรใช้คำถาม YES/NO แต่ควรใช้ ทำไมอย่างไร   อะไร

         2. มีความน่าสนใจจะศึกษาหรือควรนำมาศึกษาเพื่อช่วยนักเรียนที่มีปัญหา

3. คำถามวิจัยนั้นมีความสำคัญทั้งต่อตัวครูผู้สอนละผู้เรียน

4. คำถามวิจัยนั้นสามารถจัดการให้อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้วิจัยได้และ

สามารถตัดสินใจทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ

                                  5. คำถามวิจัยนั้นมีความเป็นไปได้ในการทำ เหมาะสมกับเวลา ทรัพยากร

ในช่วงแรกควรคิดถึงการทำวิจัยในประเด็นเล็กๆ (small scale) ซึ่งอยู่ใน

วิสัยที่สามารถดำเนินการจนสำเร็จ

                                 6. หลีกเลี่ยงปัญหาวิจัยที่ครูหรือผู้เกี่ยวข้องไม่สามารถทำอะไรได้แม้ทราบ

คำตอบ

                                    สรุปการคัดเลือกคำถามวิจัยท ควรมีการถามคำถามต่อไปนี้

                                                1. ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร

                                                2. ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของใคร

                                                3. ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อใครและอะไรบ้าง

                                                4. ปัญหาที่เกิดขึ้นมีความสำคัญระดับใด เมื่อเทียบกับปัญหาอื่น

                                                    ปัญหาใดสำคัญกว่า

                                                5. ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับปัญหาหรือเหตุการณ์อื่นๆ

                  อะไรบ้างอย่างไร

                                                6. ใครคือผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และ

    การแก้ไขปัญหานั้นต้องเกี่ยวข้องกับใครหรือไม่อย่างไร

                              2.2. การใช้ประโยชน์จากผลการวิเคราะห์สภาพปัญหา

            ผลที่ได้จากการวิเคราะห์สภาพปัญหานี้นำไปสู่การกำหนดคำถามวิจัยที่สอดคล้องกับสภาพกรณืที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ทำให้ผู้วิจัยสามารถตัดสินใจในการวางแผนการวิจัย

            1. สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู้การกำหนดคำถามวิจัยได้หลายคำถามที่ไม่เหมือนกัน การวิเคราะห์สภาพปัญหาจะทำให้ทราบว่าคำถามวิจัยใดมีความสำคัญที่สุดหรือเร่งด่วนที่สุดต้องนำมาหาคำตอยก่อน

            2. สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอาจเกิดกับนักเรียนทั้งห้องเรียนหรือเกิดกับนักเรียนบางคน การวิเคราะห์สภาพปัญหาทำให้ผู้วิจัยตัดสินใจได้ว่ากลุ่มเป้าหมายของการศึกษาครั้งนั้นคือใคร

            3. สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นบางครั้งครูคนเดียวก็แก้ไขไม่ได้ ต้องอาศัยเพื่อนครูคนอื่น หรือ ผู้เกี่ยวข้อง หรือนักวิชาการภายนอกมาร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาดังนั้น ครูผู้ที่กำลังทำวิจัยจะมีข้อมูลตัดสินใจว่าในการวิจัยนั้นสมควรใช้รูปแบบวิจัยใด จำเป็นต้องเชิญบุคคลภายนอกที่มีความชำนาญมาช่วยให้คำแนะนำหรือไม่ เช่น การใช้รูปแบบจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหากครูไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร ก็ต้องระดมความคิดจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด การวิจัยที่เหมาะสมสำหรับกรณีนี้ ก็จะเป็นการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียนแบบร่วมมือ

           



4. ในบางคำถามวิจัยจำเป็นต้องแก้ไขในระดับกว้างหรือทำในระดับโรงเรียนไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขได้ในชั้นเรียนนั้น หรือห้องเรียนนั้น เช่น ปัญหาในการเรียนคณิตศาสตร์ หารผู้เรียนมีพื้นฐานอ่อนอันเนื่องมาจากจัดกระบวนการเรียนรู้ก่อนหน้านั้น การแก้ไขเฉพาะรายบุคคลไม่ได้ขจัดต้นเหตุของปัญหาให้หมดไปได้ อาจจำเป็นต้องแก้ไขโดยปฏิบัติการรูปการเรียนรู้เกี่ยวกับการสอนคณิตศาสตร์ใหม่ทั้งหมดลักษณะของการวิจัยจึงน่าจะเป็นการวิจัยปฏิบัติการแบบทำในระดับโรงเรียน

                                    1. คำถามนั้นมีความสำคัญกับคุณเพียงใด

                                    2. คำถามนั้นเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนเพียงใด

                                    3. โอกาสในการสำรวจข้อมูลมีมากน้อยเพียงใด

                                    4. ใครบ้างที่สามารถช่วยในการทำวิจัยนี้ได้

                                    5. คุณสามารถจัดการเรื่องเวลาในการวิจัยเรื่องนั้นมากน้อยเพียงใด

2.3. ระดับของคำถามวิจัย

                        1. การวิจัยระดับที่หนึ่ง (fist-order research) เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อตอบคำถามว่า ใครทำอะไรได้ผลอย่างไรดังตัวอย่าง

            นักเรียนมีความก้าวหน้าเพียงใดหลังจากใช้กิจกรรมการฟังแบบที่ครูนำมาทดลองใช้กิจกรรมแบบใดให้นักเรียนเรียนรู้ได้ดีที่สุด

                        2. การวิจัยระดับที่สอง (Second-order research) เป็นคำถามศึกษาวิจัยเพื่อตอบคำถามว่าคนรับรู้สิ่งที่ตนเองทำอย่างไร (ศึกษาความคิดของคนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น) ผลกระทบของการชมเชยมีผล อย่างไรต่อความเคลื่อนไหลของกลุ่ม (ทำให้เข้าใจมุมมองของนักเรียนว่ารู้สึกอย่างไรต่อ การชมเชย และ การชมเชยมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้เป็นใด)

                        3. วิธีการทำให้ได้คำถามวิจัยที่ดี

                        การตั้งคำถามวิจัยที่ดีได้ต้องอาศัยกระบวนการต่อไปนี้

                                    1. ฝึกเป็นคนช่างสังเกต

2. สร้างนิสัยรักการอ่าน โดยเฉพาะการอ่านเนื้อหาสาระ

   ที่เกี่ยวกับปัญหาของนักเรียนและการแก้ไขปัญหา

                                    3. ฝึกตั้งข้อสงสัยและตั้งคำถามวิจัย ลองทดลองตั้งคำถาม

    และคาดเดาคำตอบ

4. หาเวลาสะท้อนความคิดกับเพื่อนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบความคิดของตนเอง โดยเฉพาะความสมเหตุสมผลของคำถามวิจัย

5. สามารถปรับคำถามวิจัยระหว่างการเรียนการสอนให้

 เหมาะสมกว่าเดิมได้(ถ้าจำเป็น

4. เกณฑ์การเลือกคำถามวิจัยมาศึกษา

ในการเลือกคำถามวิจัยมาศึกษา ผู้วิจัยต้องเลือกโดยมีหลักเกณฑ์ต่อไปนี้

1.  ปัญหาของนักเรียนทุกคนต้องได้รับความสนใจจากครูในการแก้ไขอย่างเท่าเทียมกัน

2. ผลการวิจัยของครูต้องเกิดประโยชน์กับชั้นเรียนหรือโรงเรียน

3. คำถามวิจัยที่เลือกมาศึกษาต้องคำนึงถึงจริยธรรมของการวิจัย ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใด

4. คำถามวิจัยนั้นสามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วในห้องเรียน ไม่จำเป็นต้องเก็บใหม่จนกระทบ

การเรียนการสอน ก็ควรวางแผนให้เหมาะสม

ตัวอย่างของประเด็นการวิจัยที่มีความเหมาะสม

            1. ฉันต้องการพัฒนาคุณภาพของทักษะการเขียนเป็นภาษาอังกฤษ จะสามารถทำได้อย่างไร

            2. ถ้ามีวิธีการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนอยู่เสมอ วิธีควรใช้วิธีใดจึงจะเหมาะสมกว่ากัน

            3. ฉันอยากนำคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมาใช่ในการสอนคอมพิวเตอร์ จะรู้ได้อย่างไรว่าวิธีดังกล่าวได้ผลหรือไม่

            4. ทำไมนักเรียนไม่คอยสนใจ มีวิธีสร้างนิสัยดังกล่าวอย่างไร

            5. จะทำให้นักเรียนรู้โทษของยาเสพติด และหลีกเลี่ยงจากยาเสพติดอย่างไร

ตัวอย่างของประเด็นที่ความเหมาะสมน้อยกว่า

            1. นักเรียนที่ขาดโรงเรียนมีภูมิหลังทางครอบครัวอย่างไร

            2. จำนวนนักเรียนที่มีครอบครัวแตกแยกมีเท่าใด

            3. สาเหตุอะไรที่ทำให้นักเรียนมาสาย

            4. นักเรียนที่มาสายมีจำนวนเท่าใด

            5. ความสัมพันธ์ระหว่างเวลามาโรงเรียนกับเด็กที่พ่อแม่หย่าร้างมีลักษณะเช่นใด

            6. ปริมาณของเวลาที่เด็กใช้ในชั้นเรียนสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหรือไม่

            7. ทำไมนักเรียนเอาอุปกรณ์มาไม่ครบ

โปรดสังเกตว่าคำถามหรือประเด็นการวิจัยในกลุ่มหลังมีความเหมาะสมน้อยกว่ากลุ่มแรกเนื่องจากข้อค้นพบที่ได้ ไม่ได้มีส่วนปรับปรุงแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นเท่าที่ควรนอกจากนี้หลายคำถามก็มีคำตอบในเชิงทฤษฎีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องศึกษาซ้ำ เช่น คำถามวิจัยข้อ 1-2 ซึ่งเป็นคำถามที่เกี่ยวกับภูมิหลังทางครอบครัวของนักเรียน การรู้สถิติของนักเรียนที่ทีครอบครัวแตกแยก จะเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนค่อนข้างน้อย การรู้ว่านักเรียนที่มีพ่อแม่แตกแยกจะส่งผลต่ออัตราการมาโรงเรียนของนักเรียนหรือการเรียนของนักเรียน ก็ไม่สามารถช่วยอะไรไก้มากนัก คำถามประเภทนี้ เป็นคำถามที่แม้จะรู้คำตอบแล้วครูก็ไม่มีบทบาทมากในการเข้าไปแก้ไขและไม่ใช่หน้าที่ของครูที่จะเข้าไปทำให้พ่อแม่ของนักเรียนคืนดี ข้อมูลแบบนี้โรงเรียนจำเป็นต้องมีการจัดเก็บเพื่อให้เข้าใจในสภาพของนักเรียน แต่ไม่ใช้นำมากำหนดเป็นคำถามการวิจัยหลัก คำถามวิจัยที่น่าจะเป็นประโยชน์มาก คือ ครูจะมีวิธีอย่างไรในการแก้ไขปัญหาด้านการเรียนสำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางบ้าน และวิธีที่นำมาใช้ได้ผลเพียงใด

3. การกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา

            คำถามการวิจัยหลายคำถามเป็นเพียงการทำวิจัยเพื่อนสำรวจสภาพที่เกิดขึ้นในห้องเรียนบางคำถามเป็นคำถามที่มุ่งเน้นการอภิปรายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น แต่คำถมส่วนใหญ่มุ่งเน้นการหาวิธีการแก้ปัญหา

3.1 สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

                        สิ่งที่เป็นปัญหาของครู การคิดหาวิธีการแก้ปัญหา การกำหนดสิ่งทดลองเพื่อใช้ในการจัดการเรียนดารสอน หลายครั้งที่ครูกำหนดปัญหาวิจัยว่า แต่หาวิธีแก้ไขไม่ได้ เนื่องจากไม่สามารถหาอะไร ไปทดลองใช้ได้ ครูมักตั้งถามวิจัยว่า ทำไมนักเรียนจึงมีข้อบกพร่องด้านการอ่านทำไมนักเรียนจึงเขียนสะกดคำไม่ได้ การตั้งคำถามแบบนี้ทำให้ได้คำตอบสาเหตุของปัญหา ซึ่งครูสามารถวิเคราะห์ได้จากพฤติกรรมของนักเรียน และพฤติกรรมการสอนของครู คำถามวิจัยแบบนี้มีประโยชน์ระดับหนึ่ง แต่จะไม่สามารถแก้ปัญหาวิจัยได้เลย หากครูไม่ตั้งคำถามวิจัยต่อว่า วิธีแก้ปัญหานักเรียนที่มีข้อบกพร่องการอ่านคืออะไรวิธีแก้ปัญหาได้ผลหรือไม่อย่างไรผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนจากการใช้วิธีดังกล่าวคืออะไร

            3.2. วิธีการแก้ปัญหา

            แนวทางการแก้ปัญหาเหล่านี้ มีดังนี้

1. ครูต้องอ่านมาก ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับวิทยาการด้านการสอนให้มาก

2. ครูต้องมีการรวมกลุ่มกัน และหาโอกาสอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสอนใหม่ๆ

3. ต้องมีการสำรวจข้อมูลและจัดระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการเรียนรู้ เทคนิคการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนมีความหลากหลาย แต่ที่ผ่านมาไม่มีการจัดระบบฐานข้อมูลหรือเผยแพร่เทคนิคดังกล่าวอย่างจริงจังตัวอย่างเทคนิคการสอนมีเล็กน้อย และไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

4. การจัดตั้งเครือข่ายการวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research Network) โดยเป็นศูนย์กลางของการเก็บรวบรวมผลการวิจัย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางการทำวิจัยปฏิบัติการในชั้นเรียน แล้วจัดทำเป็นฐานข้อมูลระดับชาติสมมติหน่วยงานหนึ่งมีฐานข้อมูลนั้นจำทำให้เห็นวิธีการต่างๆจากครูที่สอนเด็กเล็กที่เสนอมายังเครือข่ายดังกล่าวเป็นพันเป็นหมื่นเรื่อง งานวิจัยดังกล่าวเมื่อนำมาสังเคราะห์จะสามารถสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับความรู้การสร้างนิสัยการดื่มนมที่ได้ผล



5. รวบรวมวิธีการการแก้ไขปัญหาในชั้นเรียน จะมีการแสดงตัวอย่างของวิธีการต่างๆที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาในชั้นเรียนอย่างเป็นหมวดหมู่ จะทำให้ครูเกิดความคิดที่จะดัดแปลงหรือคัดเลือกวิธีการที่ต้องนำไปใช้ ต้องมีตัวอย่างที่นำเสนอวิธีการหลากหลายในการแก้ปัญหาเดียวกัน  ไม่ควรนำเสนอตัวอย่างเดียว เพราะอาจทำให้เกิดการลอกเลียน และเป็นการกำจัดความคิดครูซึ่งนอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังส่งผลเสียได้



            การที่จะผนวกกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการเข้าไปทำพร้อมๆกับการเรียนการสอนตามปกติประจำวันควรคำนึงสิ่งต่อไปนี้

            1.  ลองใช้กระบวนการจริงและทำให้เกิดความมั่นใจว่า การลงทุนด้านเวลาเละพลังกาย-ใจ ที่ใส่ลงไปคุ้มค่ากับผลลัพธ์ ขั้นแรก ดำเนินโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่มีความหมายกับครูคือตัวท่านเอง และตรงกับความต้องการของนักเรียน เมื่อสิ้นสุดโครงการครูจะพบว่า ครูเข้าใจกลุ่มที่ศึกษามากขึ้น และทำให้ครูจัดปรับเข้าไปกับการสอนของครูได้ หรือเห็นผลชัดถึงผลการเรียนรู้ของนักเรียน (หรือทั้งสองอย่าง) ซึ่งจะทำให้ครูมีความมั่นใจอย่างเต็มที่ว่า วิจัยเชิงปฏิบัติการมีค่าควรแก่การลงทุนเวลาและพลังงาน ความเชื่อ และเจตคติต่อการวิจัยเชิงปฏิบัติการจะเปลี่ยนไปหลังจากที่ครูได้ลองด้วยตนเอง

            2.  รับทราบว่าวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นกระบวนการที่สามารถดำเนินการได้ ไม่มีผลกระทบทางลบต่อชีวิตส่วนตนและชีวิตทางวิชาชีพ ตัวอย่าง เช่น ครูมีงานมากมายต้องทำ และไม่มีเวลาพอที่จะทำวิจัยแยกต่างหากจากงานสอนปกติได้ กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เสนอ ในหนังสือนี้ ให้กรอบที่เป็นระบบซึ่งสามารถประยุกต์เข้ากับงานสอนประจำวันของท่านได้ การลงทุนด้านเวลา ทำให้ท่านเรียนรู้ว่า การทำวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างไรถึงจะได้ผลคุ้มค่า การบวนการอาจให้ผลพลอยได้ที่คาดไม่ถึง กล่าวคือ การะบวนการให้โอกาสท่านทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งมีประเด็นปัญหาเดียวกัน หนังสือนี้จะใช้แหล่งข้อมูลมากมายที่มีอยู่จริงในชั้นเรียนที่อยู่ในโรงเรียนของท่านจะให้รูปแบบที่สามารถร่วมคิดกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งกำลังปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนในชั้นเรียนของเขาเองด้วย

            3.  ขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน ครูนักวิจัยอื่นเป็นพี่เลี้ยงให้ นอกจากศึกษาทฤษฎี สังเกตการณ์สาธิตและลงมือปฏิบัติ โดยมีการป้อนกลับเป็นตัวช่วยให้ครูสามารถพัฒนาทักษะถึงขั้นที่สามารถใช้รูปแบบได้อย่าคล่อง เพราะลำพังการพัฒนาทักษะไม่รับรองการถ่ายดอนทักษาโดยอัตโนมัติ จำเป็นต้องอาศัยพี่เลี้ยงซึ่งเป็นครุนักวิจัยช่วยแนะนำท่าน จึงจะประสบความสำเร็จในการเป็นผู้วิจัยเชิงปฏิบัติการตามที่ปรารถนา ข้อแนะนำต่างๆที่กล่าวมาทั้งหมดสรุปไว้กรอบดังนี้







การทำให้การดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการสอนประจำวัน
-ลองทำโดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ท่านมั่นใจว่า การลงทุนลงแรงและเวลาคุ้มกับผลลัพธ์ที่ได้รับ
-รับทราบว่าการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เป็นกระบวนการที่ดำเนินการแล้ว จะไม่ได้รับผลทางลบ ทั้งต่อชีวิตส่วนตนและต่อวิชาชีพ
-ขอให้เพื่อนร่วมงาน ครูนักวิจัย เป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือแนะนำ



ข้อคำนึงสำหรับครูในการทำวิจัยในชั้นเรียน

            การพัฒนาความเชี่ยวชาญในวิชาชีพครู และการตัดสินใจเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพของงานสอนของครูนั้น ต้องคำนึงว่า กิจกรรมของการวิจัยในชั้นเรียนต้องครอบคลุมในเรื่องอะไรและมากน้อยเพียงใด จึงจะมีผลกระทบต่อการสอน และเวลาส่วนตัวที่ครูต้องใช้ และนอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงประโยชน์ และคุณค่าของการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปด้วย (กิตติพร ปัญญา ภิญโญผล, 2541), Hopkins (1985)

            ข้อ 1 หน้าที่สำคัญประการแรกของครู คือ สอนวิธีการวิจัยใดก็ตาม ไม่ควรไปรบกวนหรือขัดขวางการปฏิบัติงานสอนจามหน้าที่ที่รับผิดชอบ

            ข้อ 2 วิธีการรวบรวมข้อมูลต้องไม่ใช่เวลาของครูมากเกินไป ครูควรต้องใช้เทคนิควีการรวบรวมข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง สามารถใช้บอกข้อมูลเพ่อการวินิจฉัยและวิเคราะห์ได้ง่ายๆ

            ข้อ 3 วิธีวิทยาการที่ครูใช้ต้องมีความเชื่อถือได้ และเหมาะสมกับลักษณะงานวิจัยขนาดเล็กที่ครูทำขึ้นในชั้นเรียน

            ข้อ 4 ปัญหา/หัวข้อวิจัยที่ครูทำควรเป็นเรื่องที่ตนผูกพันอยู่ หรือเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในชั้นเรียนของตน

            ข้อ 5 เป็นเรื่องของหลักจรรยาบรรณที่ครูจำเป็นต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการเก็บความลับ และเคารพต่อสิทธิอันชอบธรรมของบุคคลที่เป็นตัวอย่างที่ใช้สำหรับศึกษา (นักเรียน) ขณะเดียวกัน ต้องใช้วิธีการทำงานที่เหมาะสมกับผู้ร่วมงานอื่นๆในองค์การทางสังคม (โรงเรียน ชุมชน ฯลฯ) ด้วย















ผลกระทบของวิจัยเชิงปฏิบัติการที่มีต่อการปฏิบัติงาน

            เมื่อถามครูว่าครูทำอะไรในชั้นเรียน ครูยึดถือข้อตกลงเบื้องต้นอะไร และอะไรเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ครูปฏิบัติเช่นนั้น คำตอบที่มักได้รับคือ

            - วิชาที่สอนในตอนเช้าของชั้นประถมศึกษาต้องเป็นวิชาทักษะ และตอนบ่ายสอนวิชาสังคมเพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กตั้งใจเรียนได้ดีกว่าและเรียนรู้ได้มากกว่า

            - วิธีที่ดีที่สุดในการสอนเด็กอนุบาล คือ ให้เด็กนั่งล้อมวง ทำให้เด็กใกล้ชิดครูและตั้งใจฟังครูมากขึ้น

            - เวลาที่นักเรียนมัธยมศึกษาเรียนรุ้ได้ดีที่สุดคือ 43 นาที ถ้าเกินกว่านั้นนักเรียนเหนื่อยและไม่มีสมาธิเรียน

            -ถ้าครูให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดการให้คะแนน เด็กๆจะทำคะแนนสอบดีขึ้นโดยอัตโนมัติ

            ในการสอนทดลองทางวิทยาศาสตร์ ถ้าให้เด็กใช้เวลาน้อยในการเก็บข้อมูลแล้วได้รับการสอนจากครู เด็กๆ จะเข้าใจความคิดรวบยอดทางมิทยาศาสตร์ได้ลึกซึ้งมากกว่า ตัวอย่าง ข้อความดังกล่าวข้างต้น เรามักได้ยินบ่อยๆเพราะเป็นความจริงที่เกี่ยวกับการสอนและการเรียนรู้ที่ไดจากครู ความจริงที่ว่านี้ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างการวิจัยกับการปฏิบัติงานทางการศึกษา การวิจัยต้องทำมากขนาดใดถึงจะพอบอกกล่าวให้ครูได้ทราบถึงการปฏิบัติทางการสอน ทั้งโดยความจริงแล้ว ครูได้เรียนรู้วัฒนธรรมของการสอนติดต่อกันเป็นแรมปี จากงานสอนของตนเองและการสังเกตการณ์สะสมนับย้อนถึงตั้งแต่ตัวเองเป็นนักเรียนจนกระทั่งเป็นครู จะมีอะไรผลักดันและด้วยเหตุผลอะไรที่ทำให้ครูลงมือทำวิจัยเชิงปฏิบัติ แล้วส่งผลถึงการพัฒนาการปฏิบัติงานครู เหตุผลต่างๆ 5 ประเด็น ดังเสนอต่อไปนี้



1.  วิจัยปฏิบัติการสามารถให้ความตรงสอดคล้องและความเชื่อถือได้

            วิจัยที่ครูทำเอครูนั้น เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่ตรงสอดคล้องชัดเจนระหว่างตัวเหตุและตัวผล กล่าวคือ ครูระบุแหล่งข้อมูลที่สามารถให้ข้อมูลที่ตรงสอดคล้องอย่างชัดเจนถึงผลของนวัตกรรมที่มีผลต่อการเรียนของนักเรียน ทำนองเดียวกัน ข้อค้นพบของวิจัยเชิงปฏิบัติการ และข้อเสนอแนะที่เกิดจากการข้อค้นพบเหล่านี้มีความเชื่อได้สำหรับครูนักวิจัย เพราะครูนักวิจัย ได้แก้ปัญหาของครูเอง (ซึ่งต่างจากผู้เชี่ยวชาญ) จึงมีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะตัดสินใจปฏิบัติงานตามที่เห็นว่าเกิดผลดีในชั้นเรียนของครูเอง

2.  วิจัยเชิงปฏิบัติการมีความสามารถในการทำนาย

            จุดมุ่งหมายหนึ่งของการวิจัย คือ สร้างความสามารถในการทำนายให้เกิดขึ้นในชั้นเรียน เพราะการทำงานประจำวัน เพิ่มความสามารถในการทำนาย และลดความวิตกกังวล สำหรับครูและนักเรียนลง ดังนั้นผลที่เกิดจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการคือ ทำให้ครูพอใจที่เพิ่มความสามารถในการทำนายสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มการทำนายว่า การใช้สูตร วิธีการสอน หรือการใช้เทคโนโลยีจะส่งผลทางบวกต่อผลการเรียนของนักเรียนอย่างแน่นอน นั่นคือเมื่อมีนวัตกรรมใหม่ ข้อค้นพบของวิจัยเชิงปฏิบัติการย่อมมีผลต่อการทำนายผลการสอนได้

3.  วิจัยเชิงปฏิบัติการทำให้ครูได้รับข้อค้นพบด้วยตนเอง

            การที่ครูสะท้อนว่าขณะนี้ครูได้สอนอย่าไร และครูยึดอะไรเป็นหลักในการสอน ครูจะพบว่า ความเชื่อและคุณค่าของผลการปฏิบัติงานของครู ได้มาจากว่าครูรับรู้การสอนของตนเองอย่างไร เสมือนครูเองก็เป็นผู้เรียน (คิดว่างานที่ตนทำแล้วได้ผลดี งานของตนประสบความสำเร็จและตัวเองเป็นครู) จึงน่าจะนำมาให้วิจัยเชิงปฏิบัติการส่งผลทางบวกต่อการปฏิบัติในฐานะครูนักวิจัย ข้อค้นพบที่ครูได้รับ จึงมีความหมายต่อครู เพราะครูเป็นผู้กำหนดประเด็นที่ต้องการวิจัยเอง ไม่ใช่คนอื่นนำผลการวิจัยที่ได้ผลดี มาบอกให้ครูเปลี่ยนแปลงตามผลการวิจัยที่คนอื่นทำไว้ ดังนั้นกล่าวสั้นๆคือ ความเต็มใจของครูที่จะสะท้อนและเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการปฏิบัติการสอนของครูเอง นำทางให้ครูเป็นสมาชิกของชุมชนวิชาชีพ ที่ประสบความสำเร็จและมีผลงานด้วย

4.  วิจัยเชิงปฏิบัติการกับการปฏิรูประบบการศึกษา

            การวิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นตัวเชื่อมให้ครูนักวิจัย มีโอกาสยึดเอาปรัชญาการแก้ปัญหาและการปฏิบัติเพื่อบูรณาการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของโรงเรียน และการจัดการทางวิชาชีพของครูเอง และที่สำคัญยังท้าทายการปฏิรูปการศึกษา โดยทำให้วิจัยเชิงปฏิบัติการเป็นส่วนหนึ่งของระบบมากกว่าเป็นสิ่งที่นิยมชมชอบชั่วครั้งชั่วคราว

 5.  วิจัยเชิงปฏิบัติการไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีไว้ให้นิยมชมชอบชั่วครั้งชั่วคราว

            ครูโรงเรียนมักได้รับการอบรมมากมายตามกระแส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักสูตร วิธีการสอน วิธีการวัดและประเมินผล การวิจัยในชั้นเรียน เป็นต้น ทุกอย่างที่หลั่งไหลและนิยมกันเป็นพักๆซึ่งยังเผยแพร่ไม่ทันทั่วถึง ก็มีเรื่องใหม่ๆเข้ามาอีกเสมือนเป็นแฟชั่นที่ให้ความนิยมชมชอบชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็ผ่านพ้นไป แต่วิจัยเชิงปฏิบัติการน่าจะยังคงอยู่ได้ยั่งยืน ไม่ใช่ผ่านมาแค่ชั่วครั้งชั่วคราวด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ครูที่ดีควรหมั่นตรวจดูอย่างเป็นระบบถึงผลของการสอนของครู ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนเสมอๆ และพระราชบัญญัติการศึกษา (พ.ศ.2542) ก็ได้กำหนดไว้พร้อมๆกับการประกันคุณภาพภายในภายนอก ก็มีส่วนผลักดันให้ครูต้องพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการพัฒนาวิชาชีพครูไปในตัวด้วย ดังนั้น วิจัยเชิงปฏิบัติการที่ครูนักวิจัยทำสำหรับครูเองจะคงอยู่คู่กับครูตลอดไป


ที่มา : www.sobkroo.com/img_news/file/A12401031.doc


 👱👱👱👱👱👱👱👱👱👱